ปชป.มองต่างมุม “ชวน-สุเทพ” ค้าน “อภิรักษ์”ลาออกผู้ว่าฯ กทม.ชี้ศาลยังไม่ตัดสินว่าผิด ป.ช.ช.ยังหนุน ขณะที่ “อภิสิทธิ์” ย้ำจุดยืน เคยลั่นวาจาเรียกร้องนักการเมืองโดน ป.ป.ช.ชี้มูล ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และลาออก ชี้ ต้องการสร้างบรรทัดฐานให้กับการเมือง ระบุไม่ลาออกพรรคถูกกดดันหนักแน่
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะแถลงลาออกจากตำแหน่ง มีความกดดันจากแกนนำพรรค อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ไม่เห็นด้วยกับการลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าศาลยังไม่พิจารณา รวมทั้ง นายอภิรักษ์ ยังได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนชาว กทม.อย่างท่วมท้น ในขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เลือกแนวทางที่จะให้ นายอภิรักษ์ ลาออก เพราะถือเป็นจุดยืนที่พรรคยืนยันมาตลอด เนื่องจากที่ผ่านมาเคยเรียกร้องให้รัฐมนตรีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่ามีความผิด ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่และลาออกจากตำแหน่ง
รายงานข่าวยังแจ้งว่า ในระหว่างการหารือระหว่าง นายอภิรักษ์ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค และ นายประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าฯ กทม.นั้น ทั้ง นายอภิรักษ์ และ นายสุเทพ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการลาออกจากตำแหน่ง โดย นายสุเทพได้ออกความเห็นว่า นายอภิรักษ์ ไม่จำเป็นที่จะต้องลาออก เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุดและกฎหมายก็ไม่ได้บังคับให้ลาออก ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ได้พยายามบอกนายอภิรักษ์ ว่า หากไม่ตัดสินใจลาออก นายอภิรักษ์ ก็จะเจอกับแรงกดดันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสปิริตของนักการเมืองรุ่นใหม่ การสร้างบรรทัดฐานให้กับการเมืองตามมาตรฐานของพรรค รวมทั้งการบริหารงานใน กทม.ก็จะทำไม่ได้ และจะเกิดสุญญากาศ หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายอภิรักษ์ ก็บริหารราชการไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้ถาม นายอภิรักษ์ ว่า จะทนกับแรงเสียดทานเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งหากให้อยู่ในสภาพนี้ไปจนถึงวันที่ศาลฎีกาตัดสิน สุดท้ายศาลมีคำตัดสินว่า นายอภิรักษ์ ไม่หลุดคดีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
รายงานข่าวกล่าวอีกว่า นายอภิสิทธิ์ ได้อธิบายต่อว่าหากศาลตัดสินว่า ผิด นายอภิรักษ์ ก็ต้องจบอนาคตทางการเมืองไปเลย และพรรคก็จะถูกดดันอย่างหนัก แต่ถ้าตัดสินใจลาออกก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ และถ้า นายอภิรักษ์ พ้นคดีก็ยังมีเวทีระดับชาติรออยู่ ทั้งนี้ นายกรณ์ ได้สนับสนุนเหตุผลของ นายอภิสิทธิ์ ด้วยเช่นกัน ส่วนการตัดสินใจขึ้นสุดท้ายที่ประชุมได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ นายอภิรักษ์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ นายอภิรักษ์ได้รับฟังเหตุผลทั้งหมดก็ไม่ได้บอกว่าจะตัดสินใจลาออกหรือไม่ ทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องรอลุ้นการแถลงข่าวของ นายอภิรักษ์ จนถึงนาทีสุดท้าย แต่เมื่อนายอภิรักษ์ตัดสินใจลาออกแล้ว ที่ประชุมก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทั้งนี้ เมื่อ นายอภิรักษ์ ตัดสินใจที่จะลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่แถลงข่าวจากเดิมที่จะแถลงที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็เปลี่ยนเป็นศาลาว่าการ กทม.เพื่อลดกระแสว่าไม่ได้รับการกดดันจากพรรคแต่อย่างใด รวมทั้งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ กทม.ด้วย