พปช.หนุนลูกสมุนยื่น ปธ.วุฒิฯ ถอดถอน “จรัญ” และตุลาการศาล รธน.ขาดคุณสมบัติเหตุเป็นลูกจ้าง วินิจฉัยเองต้องพ้นสภาพโดยทันที อ้างที่มาเอกสารน่าเชื่อถือเหลือเกิน-นิตยสารความจริงวันนี้ ชิงออกตัวไม่เกี่ยวชี้ขาดกรณียุบ พปช.
วันนี้ (11 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประชาชนคนไทยและนักกฎหมายไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ดำเนินการถอดถอนการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายจรัญ ภักดีธนากุล และขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นๆ ที่น่าจะขาดคุณสมบัติด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้การจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เนื่องจากผู้มีตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็ไม่ได้ด้วยนั้น ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานตีความความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ไว้อย่างกว้างๆ ว่าหมายถึงผู้ที่ตกลงทำการงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าสินจ้างหรือในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากมีตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้วย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า ลูกจ้าง ทั้งสิ้น
นายพิชา กล่าวว่า ดังนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นบรรทัดฐานในการตีความความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ในมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยในกรณีของนายจรัญมีหลักฐานพบว่า ในช่วงเวลาก่อนและในขณะที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ดำรงหลายตำแหน่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นนักจัดรายการวิทยุ “คลื่นความคิด” ทางเอฟเอ็ม 96.5 ซึ่งการกระทำดังกล่าวล้วนได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าสินจ้างหรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินทั้งสิ้น เมื่อเปรียบเทียบความหมายจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตีความแล้วนายจรัญย่อมตกเป็นลูกจ้างด้วยเช่นกัน และยังถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 207(3) มีผลต้องพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 209(5) ทันที ดังนั้น ประธานวุฒิสภาในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา206(2) โดยนำรายชื่อตุลาการศาลฯ ขึ้นกราบบังคมทูล เพราะฉะนั้นจึงขอให้ดำเนินการถอดถอนนายจรัญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นที่มีพฤติกรรมที่น่าจะขาดคุณสมบัติเหมือนกับนายจรัญด้วย
นายพิชา กล่าวปฏิเสธถึงกรณีที่มายื่นถอดถอนครั้งนี้ไม่มีใครหรือพรรคการเมืองใดอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งจะมีการพิจารณายุบพรรคพลังประชาชนด้วย แต่เนื่องจากตนเพิ่งได้เห็นหลักฐานดังกล่าวจากนิตยสาร “ความจริงวันนี้” ฉบับล่าสุด ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ดังนั้นจึงเกรงว่าการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์คณะอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจทำให้การพิจารณาคดีต่างๆ โดยเฉพาะการพิจารณายุบพรรคการเมืองอีกหลายพรรคที่จะมีขึ้นในขณะนี้เป็นโมฆะได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับ นายพิชา วิจิตรศิลป์ ทนายความจากสำนักกฏหมายนิติเอกราช จำกัด ซึ่งเป็นสำนักงานกฏหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ต้องหาคดีที่ดินรัชดาฯ ว่าจ้างให้ว่าความหลายคดี เมื่อวานที่ผ่านมา(10 พ.ย.) ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.นิทัศน์ ศรีกฤษณรักษ์ พนักงานสอบสวน (สบ 3 ) กองบังคับการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก. ป.ป.ป.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในความตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเขตกรุงเทพมหานครปี 2523 โดยกล่าวหาว่า ปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯยึดทำเนียบรัฐบาล และปิดล้อมเส้นทางสัญจร ที่เป็นสาธารณะประโยชน์ โดยเฉพาะถนนราชดำเนิน และสะพานมัฆวานรังสรรค์