ปธ.วิปรัฐบาลเผยสัปดาห์นี้ยังไม่มีการเสนอญัตติแก้ไข รธน.เพื่อตั้ง ส.ส.ร.3 แต่เห็นพ้องเดินหน้าแก้ไข หลังงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระพี่นางเธอฯ
วันนี้ (10 พ.ย.) รัฐสภา นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวภายหลังการเข้าพบหารือกับนาย ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร ถึงการบรรจุญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 291 ว่า เรื่องการยื่นญัตติไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความเหมาะสมในการยื่นญัตติ ตนเห็นว่าควรให้ผ่านพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ไปก่อนจึงค่อยมาหารือว่าจะเป็นช่วงเวลาใด ซึ่งอาจจะมีการประชุมของวิปพรรคร่วมรัฐบาล กับวิปวุฒิฯ เพื่อนัดหมายวันประชุมร่วมรัฐสภา และตรวจรายละเอียดเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยอาจจะเป็นวันที่ 17 พ.ย.หรือวันที่ 19 พ.ย. ทั้งนี้ ตนอยากจะให้ดำเนินการในกรอบของสมัยประชุมนี้ ส่วนจะพิจารณาเสร็จทันหรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ยังมีความเห็นของสมาชิกรัฐสภาบางส่วนมีความเห็นให้ทำประชามติรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน แต่เนื่องจากร่างกฏหมายประชามติอยู่ในขั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งประธานรัฐสภาได้ประสานของให้วุฒิสภาเร่งพิจารณาไปแล้ว ทั้งนี้ หากกฏหมายประชามติผ่านความเห็นชอบแล้วอาจมีการนำเรื่องนี้ไปทำประชามติก่อน สำหรับการแก้ไขมาตรา 291ไม่ได้มีประเด็นหารือสาระที่จะทำให้มีปัญหา เพราะทุกคนไม่มีใครรู้ว่าผู้ที่มาเป็นส..ส.ร.จะมีใครบ้าง ซึ่งอาจจะมาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ เพราะเขาสามารถไปล็อบบี้ประชาชนให้เป็นพวกของตัวเองได้ เพื่อให้รู้ว่าตัวแทนของพันธมิตรฯ มีหน้าตาเป็นอย่างไร จึงไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลจะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ นอกจากนี้ ในชั้นกรรมาธิการก็ยังสามารถแก้ไขร่างได้
"บางคนก็บอกว่าในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ร่างออกมาอาจต้องแก้ไขก็ว่ากันไปในชั้นกรรมาธิการ มันมีความเห็นต่างกันอยู่แล้ว ผมในฐานะเป็นประธานวิปรัฐบาลพยายามดูกรอบเวลาให้เหมาะสมกับภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น ผมต้องฟังความเห็นของคนอื่นด้วย คนที่ยื่นไม่ใช่ผมคนเดียว ยังต้องมีพรรคร่วม ผู้ให้การสนับสนุนทุกคน ส่วนท่านประธานสภาไม่ได้ว่าอะไร เพราะท่านมีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณาบรรจุวาระ" นายวิทยากล่าว
ส่วนความกังวลการปิดล้อมรัฐสภาในวันประชุมพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิทยา กล่าวว่า ตนคิดว่าเอาสิ่งที่ถูกก่อนดีกว่า และเอาสิ่งที่ทำตามหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้ถูกที่สุดดีก่อนจะดีกว่า เรื่องที่มีความกลัวนั้นอย่าเพิ่งพูดไปเลย ในฐานะสมาชิกรัฐสภาหากเห็นว่าควรมาประชุมสภาก็มา ไม่ควรมาก็ไม่ต้องมา เพราะหากองค์ประชุมไม่ครบย่อมจะเปิดประชุมไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาปิดล้อมทั้งนั้น
นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องที่หารืออื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นการหารือถือการเตรียมพิจารณากฏหมายก่อนที่จะปิดประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติซึ่งเหลือเวลาอีก 3 สัปดาห์ โดยมีทั้งร่างพ.ร.บ.ที่เข้ามาอยู่ในระเบียบวาระแล้วและร่างพ.ร.บ.ที่สมาชิกเสนอ อาทิ ร่างกฏหมายยกเลิกวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกองกค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สองสมัยติดกันร่างกฏหมายยกเลิกมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ปฏิรูปกระทรวงทบวงกรม ร่างพ.ร.บ.ทางหลวงชนบท และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาจากสภาไปแล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าองค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งต้องนำมาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง