เอแบคโพลล์ สำรวจความคิดเห็น ปชช.เกี่ยวกับผลกระทบทางการเมืองหลัง “พ.ต.ท.ทักษิณ” โฟนอินเข้ารายการ “ความจริงวันนี้สัญจร” พบความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลลดลง และหากมีการเลือกตั้งใหม่ จะเลือก ปชป.มากกว่า พปช.ขณะเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.ในช่วงนี้
วันนี้ (9 พ.ย.) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 18 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวน 5,416 คน เกี่ยวกับผลกระทบทางการเมืองต่ออารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอินเข้ารายการความจริงวันนี้สัญจร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ผลปรากฏว่า แนวโน้มค่าเฉลี่ยคะแนนความสง่างามและความชอบธรรมของรัฐบาลชุดปัจจุบันลดลง เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน จาก 4.31 ในผลสำรวจวันที่ 18 ตุลาคม ลดลงเหลือ 3.97 ในการสำรวจล่าสุดผลการสำรวจยังพบว่า ความเครียดของประชาชนต่อเรื่องการเมืองยังคงสูงเหมือนเดิม คือ 5.89 ในครั้งก่อน ยังคงอยู่ที่ 5.88 ในการสำรวจล่าสุด
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความอยากได้รัฐบาลแห่งชาติ และแนวคิดการเมืองใหม่ การเมืองภาคประชาชน เพิ่มขึ้นจาก 5.08 มาอยู่ที่ 6.02 และ 5.42 มาอยู่ที่ 5.58 ตามลำดับ
ส่วนผลกระทบที่ตามมาจากการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ พบว่า คนที่นิยมศรัทธาต่ออดีตนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 เท่านั้น ขณะเดียวกัน พบว่า กว่าร้อยละ 30 กลับยิ่งทำให้ไม่นิยมศรัทธาในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เลย นอกจากนี้ ยังพบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.7 คิดว่า การโฟนอินของอดีตนายกรัฐมนตรี กลับจะทำให้สถานการณ์การเมืองแย่ลง
ผลการสำรวจยังพบว่า การโฟนอินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อความนิยมฐานสนับสนุนของประชาชนต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในช่วงปลายเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 56.3 หรือ อยู่ในแดน B- แต่ผลสำรวจ ล่าสุด พบว่า ฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อตัวนายกรัฐมนตรีลดลง 7 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 49.0 ซึ่งอยู่ในแดน C
เมื่อสอบถามถึงแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ผลปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.9 เห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมในขณะนี้ ขณะที่ร้อยละ 37.1 เห็นว่า เหมาะสมแล้ว
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.2 คิดว่า ความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายอีกด้วยผลการสำรวจยังพบด้วยว่า หากวันนี้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ประชาชนร้อยละ 40.6 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมาที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 39.0 จะเลือกพรรคพลังประชาชน หรือพรรคที่มีอดีต ส.ส.ของพรรคไทยรักไทย และร้อยละ 20.4 จะเลือกพรรคอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา