“เลขาธิการอาเซียน” ยันอาเซียนพร้อมหนุน “ไทย” เป็นเจ้าภาพจัดประชุม “สุดยอดผู้นำอาเซียน” ไม่หวั่น “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง” ทำบรรยากาศเสีย ชี้ ความขัดแย้งเป็นสถานการณ์ภายใน ต้องพยายามหาทางแก้ไขร่วมกัน ติงอย่าใช้ความรุนแรง
วันนี้ (4 พ.ย.) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า ได้มาเรียนปรึกษากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องเตรียมการจัดการประชุมอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่ 14 ซึ่งพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) คณะกรรมการดำเนินการแห่งชาติ จะประชุมกัน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็เลยมาเรียนปรึกษาหลายประเด็น อาทิ เรื่องของการประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นงานใหญ่ มี 10 ผู้นำของอาเซียน รวมกับ 3 ประเทศใหญ่ๆ มี จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอีก 3 ประเทศ คือ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นการประชุมอาเซียนบวก 6 แถมยังจะมีบุคคลระดับโลก เช่น ประธานธนาคารโลก ประธานธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชียและนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการอังค์ถัด มาร่วมด้วย เพราะจะมีอาเซียนยูเอ็น ซัมมิต ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นด้วย ที่เชียงใหม่ เพราะฉะนั้นท่านเลขาธิการอาเซียน และเลขาธิการยูเอ็น ก็จะมาประชุมกับผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศด้วย ทั้งหมดจะเกิดขึ้นในวันที่ 15-18 ธันวาคม 2551
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า บ่ายวันที่ 18 ธ.ค.จะมีบุคคลระดับโลก มาขึ้นเวที เพื่อที่จะได้พบกับนักธุรกิจอาเซียน ผู้นำทางด้านการเงินการคลังของอาเซียน และของอีสเอเชีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพราะขณะนี้เอเชียตะวันออกและอาเซียนได้รับการยอมรับว่า จะเป็นจุดการพัฒนาทางเศรษฐกิจท่าสำคัญและจะประคองเศรษฐกิจโลกเอาไว้ให้ได้ท่ามกลางความผันผวนทางด้านการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งเอเชียตะวันออกและอาเซียนจะเป็นเสาหลักให้กับเศรษฐกิจระดับโลก อยากจะให้บุคคลสำคัญเหล่านี้อธิบายให้ฟังว่าปัญหาต่างๆ จากทัศนคติ วิสัยทัศน์เป็นอย่างไร มีทางแก้อย่างไร และอาเซียนกันอีสต์เอเชีย จะอยู่ตรงไหนในวิชันนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน เรื่องอาหาร เรื่องการขัดแย้งความรุนแรง เรื่องการค้า การพัฒนา เพื่อจะให้ผู้นำของภูมิภาค ภาคเอกชน สื่อมวลชน ได้รับทราบว่า ต่อไปนี้โลกเราคาดหวังอย่างไรกับอาเซียน และเอเชียตะวันออก
สำหรับการเตรียมการในการประชาสัมพันธ์นั้น ต้องการให้โอกาสนี้เป็นโอกาสสะท้อนให้ทั่วโลกเห็นว่ามีความพร้อมความสามารถและมีความยินดีที่จะมีส่วนร่วมกับกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลก ในฐานะเป็นประธานอาเซียนอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของจุดศูนย์กลางของความสนใจที่โลกมีอยู่ต่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก คราวนี้อาเซียนจะมีการฉลองการให้สัตยาบรรณครบถ้วนทั้ง 10 ประเทศต่อกดบัตรอาเซียน ซึ่งลงนามกันไปเมื่อปลายปีที่แล้วที่ประเทศสิงคโปร์ และจะมีการฉลองที่สัตยาบันมีผลบังคับใช้ด้วย เพราะสัตยาบันให้ไว้ว่า 1 เดือนหลังจากประเทศสุดท้ายให้สัตยาบัน ซึ่งก็จะเป็นแผนที่หรือลายแทงสำหรับอาเซียนในการที่เดินหน้าประสานงานและก็บูรณาการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ด้านความมั่นคงร่วมกันและเป็นเสาหลักในหารพัฒนาภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นจุดศูนย์ร่วมความสนใจของโลกอยู่แล้ว ทั่วโลกจึงหวังว่าเราจะเป็นหัวรถจักรที่จะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของโลกไปได้และมีส่วนผลักดันให้มีการพัฒนาต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีรับปากอย่างไรในการเป็นเจ้าภาพอาเซียน ในเมื่อปัญหาการเมืองภายในประเทศยังแก้ไม่ได้ นายสุรินทร์ กล่าวว่า ตนเป็นเลขาธิการอาเซียน ถ้าประธานบอกว่าพร้อมที่จะจัด เราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุน เมื่อถามว่า การประชาสัมพันธ์งานให้รับรู้ทั่วโลกจะดำเนินการอย่างไร เพราะเวลานี้ดูเหมือนยังฝืดๆ อยู่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ที่มาปรึกษาเพื่อให้มีการปรับวิธีการในการประสานงานกับสื่อและการให้ข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งตนจะทำร่วมกับประทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วย และสนับสนุนว่า น่าจะรีบเร่งทำงานร่วมกันระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียน คณะทำงานขอนตนและกระทรวงการต่างประเทศที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นที่รับทราบ รับรู้ว่าเป็นโอกาสสำคัญไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นทั้งอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกด้วย เพราะจะมีบุคคลสำคัญๆ ของโลกมาร่วมด้วย
เมื่อถามว่าหนักใจอะไรแทนหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า ตนมีหน้าที่สนับสนุนประสานงาน ถ้าประเทศที่เป็นเจ้าภาพตัดสินใจเดินหน้า สำนักเลขาธิการอาเซียนพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เมื่อถามว่าเวลาที่เหลืออยู่คิดว่าจะเตรียมการกันทันหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า คิดว่าเดือนครึ่งที่มีอยู่ถ้าหันหน้าเข้าหากันจริงๆ และพยายามหาจุดบกพร่อง ช่องว่างที่ขาดเหลืออยู่เรารีบทำงานร่วมกันได้ ซึ่งตนก็ได้นำไอเดียต่างๆ มาปรึกษากับรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็เห็นด้วยและวันพรุ่งนี้ (4 พ.ย.) จะนำเข้าคณะกรรมการแห่งชาติในการดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่า สถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในไทยจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์การประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องภายในที่ต้องหาทางแก้กันไป คิดว่า เท่าที่ผ่านมาก็หลีกเลี่ยงความรุนแรงอยู่ได้ระดับหนึ่ง มีความรุนแรง สูญเสียอยู่บ้าง หลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจจะกว้างขวางไปได้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี รวมทั้งที่มีการหาทางรอมชอมกัน ตนเห็นหลายฝ่ายพยายามเรียกร้องและเข้าไปมีส่วนร่วมสมานรอยร้าวต่างๆในสังคมเป็นเรื่องที่ดี แต่มันเป็นเรื่องภายใน เอาเป็นว่าอาเซียนพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดประชุมอาเซียน ซัมมิต ในครั้งนี้
เมื่อถามว่า ไม่กลัวว่าบรรยากาศชุมนุมเสื้อเหลือง เสื้อแดง จะทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยเสียหายหรือ นายสุรินทร์ กล่าวว่า คิดว่า คนไทยส่วนใหญ่ตะหนักดีว่างานไหนคืองานสำคัญและระหว่างประเทศและเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ในฐานะที่เป็นคนไทยเชื่อว่าในช่วงที่เราเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่โตมโหฬารที่ไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาค แต่จะเป็นระดับโลกแล้ว เพราเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางด้านการเงินระหว่างประเทศทำให้เกิดความสนใจว่าอาเซียนทำอะไรกันอยู่ เอเซียตะวันออกทำอะไรอยู่ เราผ่านปัญหานี้มาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราอยู่ในฐานะที่ดีกว่าคนอื่นๆ เขามาก เราจำเป็นต้องมีส่วนร่วม รับผิดชอบและเข้าไปร่วมในการสรรหาทางออก นี่คือสิ่งที่เขาสนใจอยู่ ฉะนั้นมันเป็นโอกาสทองสำหรับเราที่จะแสดงความพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งเคยปรึกษากันแล้วครั้งหนึ่งในการประชุมอาเซมที่กรุงปักกิ่งที่นายกรัฐมนตรีไปร่วม ทุกอย่างกำลังคืบเคลื่อนไปด้วยดี หวังว่าจะไม่มีความขัดแย้งอะไรรุนแรงที่จะทำให้ภาพการเป็นประธานหรือการเป็นผู้นำของเราหมดไป
เมื่อถามว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนมองสถานการณ์บ้านเมืองเราอย่างไร นายสุรินทร์ กล่าวว่า เขาพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับเรา เมื่อถามว่า ท่านจะเป็นตัวกลางในการประสานการเจรจารอยร้าวภายในประเทศหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องภายใน คิดว่าเราต้องพยายามหาทางออกด้วยกันได้ อย่าให้มันเกิดความรุนแรงและให้เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายก็จะรับได้