“ชวลิต” ปัดเจรจาแกนนำพันธมิตรฯ 9 ต.ค. ไม่คาดหวังบรรลุเป้าหมายร่วมกัน อ้างถอนเพิกถอนหมายจับแกนนำฐานกบฏต้องคำนึงถึงความชอบธรรม ทวงถามทำเนียบโบ้ยเตรียมจัดพื้นที่รองรับการชุมนุม
วันนี้ (2 ต.ค.)เมื่อเวลา 08.30 น. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาถึงห้องรับรองพิเศษ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ทำงานทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว เพื่อเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการติดตามช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงการนัดหารือกับแกนนำพันธมิตรฯ ในวันที่ 9 ต.ค. นี้ว่า ใครเขียนก็ไม่รู้ เราไม่รู้หรอก อันนี้จริงๆ แล้วการเจรจากับพันธมิตรฯ ก็เจรจามานานแล้ว จากนั้น พล.อ.ชวลิต เดินเข้าห้องประชุมทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม พล.อ.ชวลิตให้สัมภาษณ์อีกว่า เรื่องพันธมิตรฯ ขอให้ใจเย็นๆ ตนขอย้ำว่า ใครไปบอกผู้สื่อข่าวว่า จะมีการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ ในวันที่ 9 ต.ค. ตนไม่ได้บอก แต่มีการติดต่อกันมีความคืบหน้า แต่การที่จะมาบอกผู้สื่อข่าวทุกวันคงจะไม่ดี ขอให้เข้าใจด้วย
เมื่อถามว่า เท่าที่คุยกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ เป็นอย่างไร พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ไม่มีเงื่อนไขอะไร ทำอย่างไรให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราต้องการร่วมกันคือการเมืองที่ดีขึ้น
เมื่อถามว่า คุยเรื่องการหาพื้นที่รองรับใหม่ หรือเป็นการตั้งข้อหากบฎใช่หรือไม่ พล.อ.ชวลิต กล่าวว่าเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เพราะพันธมิตรฯ ไม่ได้คิดถึงตัวเขาเอง แต่ความถูกต้องชอบธรรมต้องดูให้เขาเท่านั้นเอง
เร่ง ขรก.ช่วยเหลือน้ำท่วมไม่ให้ข้ามปี
พล.อ.ชวลิตกล่าวถึงผลการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า เราจัดการประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปแล้ว พรุ่งนี้จะมีการทบทวนเรื่องความเสียหาย ตัวเลข งบประมาณ ที่แน่นอน การดำเนินการช่วยเหลือต้องรวดเร็ว ถูกต้องให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทันที ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ตรงนี้สำคัญมาก เพราะส่วนใหญ่ การช่วยเหลือช้า ข้ามปี ทำให้ต้องใช้งบกลางของปีต่อไปซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนมีมาก บวกกับความผิดพลาดโดยเฉพาะที่นา จำนวนบ้านที่เสีย โครงสร้างพื้นฐาน หลังจากการประชุมก็ต้องดำเนินการต่อหลังจากน้ำลด ต้องช่วยกันดูให้องค์กรที่เกี่ยวข้องรวมถึงพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นร่วมมือแก้ไขปัญหาไม่ให้น้ำท่วมอีก หรือเรียกว่า แนวคิดจัดทำแผนระยะปานกลาง ถือว่าไม่ควรจะมีอุทกภัยเกิดขึ้น หากจะมีก็ต้องให้ความเสียหายมีน้อยที่สุด ไม่ใช่งบประมาณปี 49 จำนวน 5 หมื่นล้าน ปี 50 จำนวน 2 หมื่นล้าน ปี 51 จำนวน 3 หมื่นล้าน ตรงนี้ไม่ไหว ทั้งนี้การประชุมมีอธิบดีกรมต่างๆ มาช่วยกันเสนอข้อคิดแนวทางแก้ไข เพื่อชี้แจงให้ที่ประชุมทราบ
ส่วนการประชุมในวันพรุ่งนี้(3 ต.ค.)ที่กองบัญชาการกองทัพไทยจะประชุมเกี่ยวกับการเร่งรัดการช่วยเหลือดำเนินการให้เร็วที่สุดแล้วเสร็จภายใน 2-3 วัน เมื่อถามว่า มีแนวทางแก้ไขปัญหาซ้ำซากอย่างไร รวมถึงงบประมาณการกินตามน้ำจะแก้ไขอย่างไร พล.อ.ชวลิต กล่าวว่ามันไหลเลื่อน โดยเฉพาะการกินตามน้ำ ตัวเลขสำคัญทีสุด จะต้องใช้หลักฐานทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยป้องกัน อาทิ การถ่ายภาพทางอากาศผ่านดาวเทียม รวมถึงการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ องค์กรภาคประชาชน เข้ามามีบทบาทมีหน้าที่หลักในการดำเนินงาน จะเป็นตัวคานไม่ให้เกิดการกินตามน้ำขึ้น ตรงนี้คือตัวป้องกันที่ดีที่สุด ส่วนการฉ้อโกงเงินช่วยเหลือจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ ทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดการ