“พิภพ” ติงข้อเสนออธิการบดี ข้ามขั้นตอนการสร้างเนื้อหา แนะแต่ละมหาวิทยาลัยนำคณะต่างๆ ออกมาสร้างเนื้อหาการเมืองใหม่ร่วมพันธมิตรฯ เตือนให้รัฐบาลตั้ง กก.ปฏิรูป ระวังถูกนใช้เพื่อผลทางการเมือง เชื่อรัฐบาลนอมินีไม่กล้าตั้ง “หมอประเวศ” นั่ง กก.อิสระฯ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายพิภพ ธงไชย ปราศรัย
วานนี้ (28 ก.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมของอธิการบดีมหาวิทยาลัยในการนำเสนอเรื่องการเมืองใหม่ของนักวิชาการนั้น ข้อเสนอออกมาเหมือนจะก้าวข้ามเนื้อหาสาระของการเมืองใหม่ไป ซึ่งเนื้อหาสาระของการเมืองใหม่นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่นักวิชาการควรจะช่วยกันคิดออกมา ก่อนที่จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมา
ทั้งนี้ ตนเองอยากให้มีการร่วมตัวกันของอธิการบดี ในการให้การสนับสนุนเชิงวิชาการ และให้แต่ละมหาวิทยาลัยช่วยกันคิดเนื้อหาของการเมืองใหม่ออกมา โดยให้นักศึกษาเขามามีส่วนร่วมกัน
“อยากบอกเรื่องนี้ให้อธิการบดีได้รับทราบกัน และไม่ได้หมายความว่าพันธมิตรฯ จะปฏิเสธทุกเรื่องที่ไม่ใช่พันธมิตรฯ คิด แต่อยากให้ทุกภาคส่วนของสังคมช่วยกัน ทั้งประชาชน นักศึกษา นักวิชการ ว่าคิดอย่างไรในเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจรัฐ โดยจะมีการเลือกตั้งโดยตรง 100% หรือไม่ และจะแก้ไขรัฐสภาที่ฮั้วกันได้อย่างไร” นายพิภพกล่าว
นายพิภพ กล่าวอีกว่า เนื้อหาสาระของการเมืองใหม่จะต้องช่วยกันคิด ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยมีอยู่หลายคณะที่มีความรู้ โดยคณะนิติศาสตร์ จะสามารถช่วยกันคิดเรื่องกฎหมายในการเมืองใหม่ และคณะบัญชีก็ให้ช่วยกันหาแนวทางการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น คณะสังคม ก็ควรเข้ามาช่วยกันคิดว่าจะจัดการเมืองใหม่ด้านสังคมอย่างไร ส่วนคณะเศรษฐศาสตร์จะมีส่วนอย่างมากในการคิดระบบเศรษฐกิจในการเมืองใหม่นี้ ให้มีความเท่าเทียมกัน จัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม และอยู่ในความพอเพียงให้ได้
ทั้งนี้ ตนเองมองว่าข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดีในการตั้งคณะกรรมการขึ้นปฏิรูปการเมืองการปกครองนั้น กระโดดข้ามในเนื้อหาสาระดังกล่าวข้างต้น และคล้ายกับการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน แต่เมื่อเขามาแล้วก็ไม่มีอำนาจอะไร แม้จะสามารถตั้งผู้เข้าร่วมทำงานเองได้ก็ตาม โดยรัฐบาลชุดนั้นเพียงแค่ต้องการให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นตัวแก้ไขปัญหาทางการเมืองเท่านั้น เนื่องจากขณะนั้นมีการเข่นฆ่าประชาชนในภาคใต้จำนวนมาก
นอกจากนี้ การเมืองใหม่ที่อธิการบดีเสนอให้รัฐบาลเป็นคนตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองนั้น ไม่สอดคล้องกับการเมืองที่แท้จริง เพราะรัฐบาลไม่มีความชอบธรรม พรรคพลังประชาชนกำลังจะถูกยุบพรรค จะทำการปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร ดังนั้น เราจึงไม่ควรนำการเมืองใหม่ไปผูกกับรัฐบาลที่ไม่มีอนาคตชุดนี้ เพราะจะทำให้ข้อเสนอหมดอนาคตไปด้วย โดยทั้งหมดที่กล่าวเป็นเพียงประเด็นแรกเท่านั้น
นายพิภพ กล่าวอีกว่า ในประเด็นที่สองที่นักวิชาการไม่ควรนำการเมืองใหม่ไปผูกกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะเขาอาจไม่แต่งตั้งคนกลางที่จะมาเป็นคณะกรรมการอย่างแน่นอน ซึ่งคนที่พวกท่านต้องการ คือ นพ.ประเวศ วะสี นั้นก็จะไม่ถูกพวกเขาตั้ง เพราะท่านได้เขียนบทความฉีกการเมืองเก่าออกเป็นชิ้นๆ แล้ว นักการเมืองเก่าพวกนี้จะตั้งท่านที่สนับสนุนการเมืองใหม่ได้อย่างไร และคิดว่าท่านคงจะไม่รับแต่งตั้งจากรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมนี้ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราไม่ควรนำการเมืองใหม่ไปผูกพันกับรัฐบาลครอบครัว หรือรัฐบาลชั่วๆ ชุดนี้
“การทำประชามติยกร่าง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อการเมืองใหม่นั้น รัฐบาลนี้คงไม่มีเวลาพอ เพราะเขาต้องการแค่หาเงินเพื่อเตรียมลงเลือกตั้ง โดยใช้งบประมาณแผ่นดินเท่านั้น ถ้าข้อเสนอของการประชุมอธิการบดีผูกพันกับภาคประชาชนจะสำเร็จมากกว่านี้ และรู้สึกเสียดายข้อเสนออธิการบดีที่มีเจตนาดี และอยากให้ร่วมกับประชาชน ถึงเวลาหรือยังที่จะให้คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยซึ่งมีความรู้มาก ที่มีปัญญามากพอมาเชื่อมกันทำการเมืองใหม่” นายพิภพกล่าว
นายพิภพ กล่าวอีกว่า ความหวังดีของอธิการบดีนั้น อาจถูกรัฐบาลนำเป็นวาระซ่อนเร้นเพื่อต้องการผลทางการเมืองมากว่า ซึ่งนี่เป็นเหตุผลอีกอย่างที่ไม่ควรนำการเมืองใหม่ไปผูกพันกับรัฐบาล โดยเรื่องนี้จะทำให้พวกท่านเป็นเหยื่อของรัฐบาล เหมือนครั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ อธิการบดีจะต้องหันกลับมาดูศักยภาพในมหาวิทยาลัยของท่านว่าจะทำเนื้อหาสาระของการเมืองใหม่อย่างไร และเมื่อพร้อมแล้วจึงนำมาเชื่อมกับพันธมิตรฯ และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ โดยเมื่อทำได้อย่างนั้นจะทำให้เกิดมิติใหม่ทางการเมือง ที่มีเนื้อหาสาระอันเป็นประโยชน์ต่อชาติอย่างแท้จริง
“ท่านต้องเริ่มทำกันแล้ว และอย่าไปหวังกับรัฐบาลที่ไม่มีอนาคต ยกตัวอย่างเช่นถ้าต้องทำให้เสร็จใน 4 เดือน แต่อายุรัฐบาลนี้กำลังจะถูกตัดสินให้ยุบพรรค และเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล เขาจะไม่ผูกพันกับสิ่งที่ผ่านมา เพราะเขาไม่ต้องการลดอำนาจตนเอง ซึ่งการเมืองใหม่ต้องการลดสัดส่วน ส.ส.ที่มาจากพื้นที่ แต่จะมี ส.ส.มาจากทุกภาคส่วนมากกว่าถึงจะถูกต้อง” นายพิภพ กล่าว
ทั้งนี้ อยากให้อธิการบดีเชื่อมั่นในประชาชนและลงจากหอคอย มาทำสาระร่วมกับประชาชนทั้งประเทศ ลำพังเราทำสัปดาห์ละครั้งไม่พอ เราต้องการส่วนร่วมที่มากกว่านี้ และอยากให้ท่านกระตุ้นนักศึกษาให้ทุกคนมีส่วนร่วม และให้นักวิชาการรับรู้ถึงการเมืองเก่า และจะแก้ไขให้ได้ นี่ไม่ใช่การต่อสู้ของชนชั้น แต่เป็นประชาธิปไตยที่ทุกชนชั้นจะได้ประโยชน์ทั่วหน้าและจะทำให้เราก้าวพ้นการเมืองเก่า โดยจะต้องร่วมกันสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมทางการเมืองให้อยู่ในใจผู้คน เพื่อให้เป็นตรรกะทางการเมืองใหม่ ซึ่งสงครามครั้งสุดท้ายนั้น จะต้องเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนเพื่อประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนเพื่อประชาชน