หน.ปชป.สับรัฐบาล และ พปช.ขาดความจริงในการประชุมสภาเพื่อผ่านร่างกม. เตือนให้ความสำคัญร่างองค์กรอิสระมากกว่าร่าง กม.ตัวเอง ชี้ “สมชาย” ข่มขืนใจ ปชช.ตั้งครม.ทายาทอสูร หวังเขมือบสมบัติชาติ
วันนี้ (25 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เลื่อนนัดลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามที่คณะรัฐนตรี และ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ว่า พรรครัฐบาลไม่ค่อยมีสมาธิในการประชุมสภามาระยหนึ่งแล้ว ตนจึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องมาเอาใจใส่งานของสภาและที่สำคัญ ก่อนที่รัฐบาลจะแถลงนโบาย หรือ รัฐบาลรักษาการณ์ น่าจะเปิดโอกาสให้สภาผลักดันกฎหมายองค์กรอิสระ ไม่ใช่มาผลักดันกฎหมายของรัฐบาล เพราะโดยมารยาทควรรอรัฐบาลใหม่ว่าจะยืนยันกฎหมายนั้นหรือไม่ ดังนั้น แทนที่จะพิจารณากฎหมายฟอกเงิน ความจริงสภาควรที่จะเร่งผ่านกฎหมาย ป.ป.ช. ผ่านกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน และผ่านกฎหมายของศาลให้เรียบร้อยมากกว่า
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการแต่งตั้ง ครม.ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นการสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ เพราะบุคลากรที่เข้ามาอยู่ในรัฐบาลส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนเดิมๆ ในรัฐบาลชุดเก่าที่ไม่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของประชาชน และมีการนำคนที่เคยทำงานมาแล้วและมีปัญหาย้อนกลับมาร่วม ครม. ซึ่งถือว่านายสมชายปล่อยโอกาสที่จะทำให้โฉมหน้าใหม่ของรัฐบาลให้หลุดลอยไปในสภาวะที่สังคมกำลังเผชิญกับปัญหาที่รุมเร้ามาก อีกทั้งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลมีแต่ภาพการแก่งแย่ง ต่อรอง วิ่งเต้นโดยไม่คำนึงถึงการเข้ามาแก้ปัญหาอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้และยังซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรมีท่าทีที่ชัดเจนต่อปัญหาสำคัญ ซึ่งเมื่อตัวนายกฯและรัฐมนตรีส่วนใหญ่อยู่ในรัฐบาลชุดที่แล้ว หรือเป็นคนอยู่ในแวดวงของ ครม.ชุดที่แล้ว ต้องสามารถส่งสัญญาณหรือตอบคำถามได้ว่าอะไรคือความเปลี่ยนแปลงและแตกต่าง เพราะถ้ายังเน้นแต่เสียงข้างมาก กลุ่มเดิม หรือนโยบายเดิม ตนคิดว่าสังคมจะไม่มีความหวังว่าจะออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ พรรคมีข้อเสนอ 5 ข้อที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องรอการส่งสัญญาณอย่างรวดเร็วจากรัฐบาล คือ 1.ปัญหาน้ำท่วมและภัยพิบัติที่รัฐบาลจะต้องระดมความช่วยเหลือเฉพาะหน้าอย่างต่อเนื่องและต้องมีกระบวนการสำรวจความเสียหาย รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยและการให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะภาคการเกษตรอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายจัดทำระบบสำรวจหรือขึ้นทะเบียนพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อมีมาตรการเชิงป้องกัน และควรผลักดันให้มีการจัดทำระบบประกันภัยพืชผล
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า 2.เรื่องเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน รัฐบาลต้องส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกลับมา คือ ปัญหาการทำงานระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมีการแต่งตั้งและแทรกแซงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ ธปท.และตลาดทุน ซึ่งขัดแย้งกับหลักธรรมาภิบาล รัฐบาลใหม่จึงควรรื้อสิ่งเหล่านี้แล้วมาเริ่มต้นใหม่ เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในการทำงานที่เป็นความสัมพันธ์ที่ดีโดยมีเป้าหมายที่จะบริหารปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีแผนที่ชัดเจนในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและรับมือกับตลาดส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในโลก ตลอดจนมีมาตรการแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่ราคาหน้าปั๊มยังไม่ลดตามราคาน้ำมันดิบหรือแม้จะมีการยกเลิกการเก็บภาษีไปแล้ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า 3.ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลต้องเลิกปล่อยให้เป็นภาระของตำรวจและทหารเท่านั้น แต่ต้องจัดระบบการแก้ปัญหาที่เป็นเอกภาพ โดยมีกฎหมาย หน่วยงาน และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบชัดเจน ส่วนเรื่องความเป็นเอกภาพ พรรคไม่ต้องการเห็นภาพเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว 2 ครั้งที่มีข่าวว่ามีการเจรจาพูดคุยแล้วมีการนำมาแถลงว่าปัญหาจะยุติ แต่สุดท้ายมีหน่วยงานของรัฐบาลปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง 4.ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลต้องเลิกความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แต่ควรสนับสนุนการแก้ไขเพื่อปฏิรูปการเมืองหรือทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย โดยนายกฯต้องเลิกพูดว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ปล่อยให้พรรคของตัวเองเดินหน้าสร้างปมความขัดแย้งในเรื่องนี้ อีกทั้งรัฐบาลต้องสนับสนุนและอำนวยความสะดวกต่อการทำงานของกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับคดีที่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอัยการสูงสุด ต้องมีความรวดเร็วและชัดเจนว่าจะมีความจริงจังกับเรื่องนี้ ในส่วนสื่อของรัฐนั้นต้องไม่มีลักษณะของการปลุกระดม สร้างความขัดแย้งหรือความเกลียดชัง และต้องไม่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า 5.การบริหารราชการของรัฐบาลต้องเป็นระบบอย่างแท้จริงและคำนึงถึงระยะยาวอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงต้องสร้างความซื่อสัตย์ ธรรมาธิบาล และความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ เพราะจะเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในการทำให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างราบรื่น และวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจะคลี่คลายได้
เมื่อถามว่าการที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้มาดูแลงานทางด้านความมั่นคงและปัญหาภาคใต้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องทำให้การแก้ปัญหาเป็นเรื่องของรัฐบาล ต้องมีระบบโครงสร้างที่ชัดเจนว่าจะรับผิดชอบการแก้ปัญหาทั้งหมด
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะดำเนินการ 6 มาตรการ 6 เดือน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่จำเป็นที่จะยกเลิกมาตรการนี้ก่อนกำหนด แต่ก่อนที่อายุของมาตรการจะหมดลง รัฐบาลควรคิดถึงการช่วยเหลือที่เป็นระบบมากขึ้น อาทิ คูปองคนจน หรือระบบสวัสดิการ ที่น่าจะถูกหยิบยกเตรียมการให้ทัน