“สุริยะใส” ยืนยันปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ ยึดทำเนียบเป็นฐานที่มั่นจนกว่ารัฐบาลจะลาออก ตั้งข้อสังเกตศาลแพ่งออกคำสั่งคุ้มครองฉับไว ในขณะที่คำร้องของ จนท.ศธ.กลับชะลอส่งให้ศาล รธน.ตีความ เผยทีมทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์พรุ่งนี้ ลั่นไม่ต้องการรัฐประหาร แต่หวั่นมือที่สามสร้างสถานการณ์ ขณะเดียวกัน กล่าวขอโทษด้วยวาจาต่อสื่อมวลชนทั้งหมดกรณีเหตุกระทบกระทั่ง พร้อมกำชับผู้ชุมนุม-การ์ดอำนวยความสะดวกสื่อทำงาน
วันนี้ (28 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นความขัดแย้ง 3 แบบ คือ 1. ทางการเมือง ซึ่งเป็นความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล เรื่องที่เรามีการเคลื่อนไหวตามกฎรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และเป็นการชุมนุมอย่างสันติ 2.ความขัดแย้งแวดล้อมนั้น เนื่องจากมีเรื่องของศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ในชั้นศาลเรายังใช้สิทธิอุทธรณ์ โดยในวันพรุ่งนี้ (29 ส.ค.) ทีมทนายความจะไปร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งขอเพิกถอนหมายจับในข้อหากบฏ ซึ่งศาลชั้นต้นอาจจะไม่รับเพิกถอน และเราก็จะยื่นต่อศาลอุทธรณ์
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเชิงวิชาการ กรณีของศาลแพ่งดังนี้ 1.กรณีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ยื่นฟ้องพันธมิตรฯทำไมศาลแพ่งไม่อ่านคำสั่งว่าคุ้มครองหรือไม่ แต่กลับส่งเรื่องไปศาลปกครอง และส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้กลับมีให้คำสั่งเลย 2.คำสั่งศาลแพ่งบังคับ 9 คน หรือเฉพาะแกนนำ หรือประชาชนเรือนแสนด้วย และถ้าหากเฉพาะ 9 คน ทั้ง 9 คน ก็ไม่มีสิทธิ์สั่งให้คนอื่นกลับบ้าน ตรงนี้เป็นข้อโต้แย้งที่ทีมทนายจะหาทางอุทธรณ์
“การต่อสู้ของพันธมิตรฯ เป้าหมายใหญ่ คือ ขับไล่รัฐบาล ส่วนปัจจัยแวดล้อมไม่อยากให้มาปนกัน ซึ่งทิศทางขณะนี้ยังปักหลักจนกว่ารัฐบาลจะออก เราจึงจะทบทวนการเคลื่อนไหวที่มั่นในขณะนี้คือที่ทำเนียบรัฐบาล” นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ส่วนที่สะพานมัฆวาน เราได้ปิดเครื่องเสียง เหลือเพียงเวทีและอุปกรณ์เท่านั้นไม่มีกิจกรรม และมวลชนจะมาอยู่ที่นี่เป็นหลัก ซึ่งถ้าหากมวลชนมีจำนวนมากเราอาจจะเปิดเวทีคู่ขนานที่มัฆวานควบคู่ไปด้วย เนื่องจากการเคลื่อนไหวของมวลชน คือ การต่อสู้ทางการเมือง การใช้ศาลหรืออำนาจมาขัดขวางนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหา ต้องใช้วิธีทางการเมือง เช่น ถ้าปล่อยความขัดแย้งลากต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น แล้วรัฐประหารนั้นก็ไม่อยากให้เกิด อยากให้เป็นไปตามระบบ ดังนั้น ที่เราห่วง คือ การฉวยโอกาส หรือพวกมือที่สาม
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการเรียกร้องให้ยอมรับคำตัดสินของกระบวนการยุติธรรม คือ คำสั่งของศาลแพ่งที่ให้ออกจากทำเนียบนั้น พันธมิตรฯยังเพิกเฉยอยู่ นายสุริยะใส กล่าวว่า การต่อสู้ของพันธมิตรฯยกระดับมาเป็นการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว แต่ในชั้นศาลเราก็ยังต้องต่อสู้อยู่ ตรงนี้ไม่ใช่ว่าเราไม่เคารพ ก็แล้วแต่คนจะตีความ และถ้าหากรัฐบาลลาออกแล้ว จะมีรูปแบบอื่นอีกหรือไม่ ตนขอบอกว่า เอาทีละเปลาะดีกว่า ถ้า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แถลงลาออก หรือสลายขั้วทางการเมือง ทางออกก็จะคลี่คลายไปเปลาะนึง
ส่วนคำสั่งปลด พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง นั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า ต้องขอบคุณท่าทีของ พล.ต.ท.อัศวิน ซึ่งเป็นท่าทีที่อะลุ้มอล่วยตรงไปตรงมา ได้คือได้ ไม่คือไม่ นี่คือเหตุผลสำคัญของการปลดฟ้าแลบ แล้วเอาคนใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ตรงนี้ แต่อยากฝากไว้ว่า ตำรวจไม่เคยมีประสบการณ์จากการรับมือผู้ชุมนุมเป็นแสนคน อย่างมากก็ 5,000-10,000 คน ยกเว้นแต่ทหารเท่านั้น
นายสุริยะใส กล่าวต่อวา ส่วน ผบช.น.คนใหม่ เชื่อว่าแต่งตั้งมาเพื่อที่จะสลายการชุมนุม และอาจจะเป็นภายในเช้ามืดคืนนี้ ทั้งนี้ ชัดเจนว่า เป็นการเตือนการสลายการชุมนุม ซึ่งเราก็จะต้องเตรียมตัว ส่วนกรณีที่มีการปราศรัยโจมตีสื่อบางสำนัก โดยเฉพาะความไม่พอใจนั้นโดยหลักการ นายสุริยะใส กล่าวว่า พันธมิตรฯจะต้องระมัดระวังไม่ไปคุกคามสื่อมวลชน
“อะไรที่เกินเลย หรือก้าวล่วงต่อนักข่าว ผมในฐานะตัวแทนก็ต้องขออภัย และถ้าอะไรที่ดูเป็นการคุกคาม อันตรายก็ต้องขอโทษด้วย แต่ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ส.ค.การรีวายภาพทั้งวันทั้งคืนของเอ็นบีทีนั้น รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับพันธมิตรฯนั้น เป็นการกระทำของสื่อที่เป็นสื่อของรัฐอย่างนั้นแล้วหรือ” นายสุริยะใส กล่าว
นอกจากนั้น นายสุริยะใสยังกล่าวถึงความคาดหวังในการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองว่า ก็คงแล้วแต่พรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็น่าจะลดความตึงเครียดได้เปลาะหนึ่ง แม้จะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่สัญญาณจากรัฐบาลในขณะนี้ เป็นการพร้อมเผชิญหน้าตรงนี้น่าห่วง สำหรับผลโพลที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนั้น ตนขอบอกว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ต้องว่ากันไป สถานการณ์ขณะนี้ เป็นการต่อสู้ทางการเมือง ก็ต้องมีทั้งแรงต้านและแรงหนุน ส่วนกรณีถ้าหากไม่มีการสลายการชุมนุม และรัฐบาลก็ไม่ลาออกจะทำอย่างไรต่อไปนั้น ตนขอบอกว่าตรงนี้ยังไม่ได้คิดกัน แต่จะยื้อให้ได้นานที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 17.00 น.จนถึงเวลาประมาณ 20.30 น.มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้สื่อข่าวกับการ์ดพันธมิตรฯ เป็นระยะๆ เช่น กรณีช่างภาพของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กับการ์ดอาสาที่บริเวณทางเข้าแยกยูเอ็น หรือ กรณีของผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ซึ่งต้องการทำสกู๊ปเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้ชุมุนุมที่มาร่วมชุมนุม โดยได้มีการขออนุญาตผู้มาร่วมชุมนุม ซึ่งบางส่วนอยู่รหว่างการอาบน้ำ, แต่งตัว แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่อ้างตัวว่าป็นนักรบศรีวิชัยก็ยังไม่อนุญาตให้เก็บภาพ รวมทั้งยังได้มาพูดจาข่มขู่ คุกคาม ทำให้สื่อมวลชนต้องประสานกับหัวหน้ารักษาควาปลอดภัยของพันธมิตรฯให้มาทำความเข้าใจ
ทั้งนี้ จนถึงเวลา 20.20 น.บนเวทีปราศรัยได้มีการกล่าวขอโทษสื่อมวลชนแทนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ รวมทั้งบอกกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกคน และผู้มาร่วมชุมนุมว่าอย่าทำร้ายสื่อมวลชน และให้สื่อมวลชนมีอิสระในการเสนอข่าวอย่างเต็มที่