xs
xsm
sm
md
lg

“ประสงค์ วิสุทธิ์” อัด “หมัก” ทำดัตจริตไม่ยอมรับ “รัฏฐาธิปัตย์” ทั้งที่ตัวเองก็เคยใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
บรรณาธิการอาวุโส มติชน “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” เขียนบทความ “สมัคร ละเมิดพระราชอำนาจ?” อัด “หมัก” สร้างกระแสกล่าวหา อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ คือการล่วงพระราชอำนาจ ทั้งที่ตัวเองก็เคยยอมรับและใช้อำนาจนี้มาแล้ว สมัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่ตอนนี้มาทำดัดจริต ไม่ยอมรับอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ที่ใช้แต่งตั้ง ป.ป.ช.

วันนี้ (26 ก.ค.) นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ หรือ ประสงค์ วิสุทธิ์ บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์มติชน และอุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เขียนบทความเรื่อง “สมัคร ละเมิดพระราชอำนาจ?” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน และ เว็บไซด์มติชนออนไลน์ (คอลัมน์ สถานีความคิดเลขที่ 12) ระบุว่า

นับเป็นเรื่องน่าอับอายอย่างมาก ถ้าประเทศไหนมีผู้นำปากพล่อย ไม่รับผิดชอบคำพูดตัวเอง ที่สำคัญ ถ้าชอบพูดเอามัน เอาความสะใจเป็นที่ตั้ง และไม่รู้จักหน้าที่ว่าต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กลับเที่ยวพูดสร้างศัตรูไปทั่วสารทิศ และใช้ลักษณะตาต่อตา ฟันต่อฟัน จนเกิดความร้าวฉานไปทั่ว สภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในระยะนี้ สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ผู้คนจำนวนมาก เพราะมีภาพของกลุ่มคนที่ไล่ฆ่ากันกลางเมืองโดยที่รัฐบาลและตำรวจนิ่งเฉย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะที่ในทางการเมืองมีการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเล่นงานคนที่เชื่อว่าเป็นศัตรูทางการเมือง ทั้งจากฟากรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มขวาจัดใช้วิทยุยานเกราะและสื่อของรัฐนำสถาบันกษัตริย์มาโจมตีนิสิตนักศึกษาจนเกิดการนองเลือด

แม้เวลาผ่านมานาน 32 ปี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและคนในรัฐบาล กลับใช้วิธีการเดียวกัน คือ ใช้วิทยุและทีวีของรัฐ (สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และวิทยุในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์) นำสถาบันกษัตริย์มาโจมตีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กำลังไต่สวนนายสมัครและคนในรัฐบาลอยู่หลายคดี

"ทำไมผมต้องพูดถึง ป.ป.ช. ...เพราะผมก็เป็นคนที่มีความคิด ผมอ่านกฎหมาย ผมก็มีความรู้...ตัวเองได้รับโปรดเกล้าฯ และคณะหนึ่งกำลังจะมาถอดถอน เป็นพวกที่ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ...เมื่อเขามีการยึดอำนาจกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น เขามีประกาศออกมา...ตั้งคณะ 9 คน (ป.ป.ช.) ขึ้นมา เขาเอา...กฎหมาย (พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต) ปี 2542 ไว้ทั้งฉบับ เพียงแต่ว่าการสรรหา...เป็นประกาศของ คมช. ...ถ้าทำตามกฎหมายปี 2542...มีรัฐบาลอยู่ มีนายกรัฐมนตรีอยู่ แต่งตั้งเอาคนเข้ามา 9 คน ก็จะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ...(แต่) ไม่นำความขึ้นกราบบังคมทูล ดำเนินการบริหารเลย...มารู้ว่าทำไม่ถูกต้อง ส่งไปกราบบังคมทูล ก็ไม่โปรดเกล้าฯ จนบัดนี้...

"ผมจะถามสิครับ คนยึดอำนาจ ยึดอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวไปด้วย...พระราชอำนาจพระเจ้าอยู่หัว เขาก็ไม่ได้แตะต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อ (ยึดอำนาจ) เสร็จแล้ว...เขาสั่งตั้ง 9 คนนี้เลย ขอยกเว้นวิธีสรรหา แล้วก็ให้ใช้กฎหมายปี 2542...เมื่อได้ตัวแล้วต้องนำความกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็จะปฏิบัติงานได้ ได้เงินเดือนต่างๆ...ผมมีสิทธิจะเอ่ยไหมครับว่า คุณทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย...แต่มาอ้างมาตรา 309 ว่าจะครอบคลุมสิ่งที่ทำทั้งหมด...แต่ครอบคลุมพระราชอำนาจพระเจ้าอยู่หัวไหม เวลาที่แต่งตั้งข้าราชการซี 10...ก็ต้องส่งไปโปรดเกล้าฯ ไม่อย่างนั้นเขาก็ดำรงตำแหน่งไม่ได้ เขาก็รับเงินเดือนไม่ได้ ก็คุณละเมิดพระราชอำนาจพระเจ้าอยู่หัว..."
(รายการ "สนทนาประสาสมัคร" วันที่ 20 กรกฎาคม 2551 บางส่วนจากเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์)

ต่อมาเมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 21 กรกฎาคม นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และรองโฆษกรัฐบาลใช้สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 โจมตี ป.ป.ช.ในเรื่องเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้แจงโดยนำหนังสือ (ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2549) ของนายรองพล เจริญพันธุ์ เลขาธิการ ครม. ที่แจ้งความเห็นของสำนักราชเลขาธิการว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ คปค.มีประกาศฉบับที่ 19 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแล้วนั้น ย่อมถือได้ว่ามีผลสมบูรณ์ที่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากขณะนั้น คปค.มีฐานะเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

ความจริงในเรื่องการยอมรับว่า คณะรัฐประหารเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" มีอำนาจในการออกคำสั่งที่ค่าบังคับเท่ากับกฎหมาย (พระราชบัญญัติ) หรือไม่ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในทางนิติปรัชญาที่มีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย สำหรับระบบกฎหมายไทยนั้นยอมรับว่า คำสั่งหรือประกาศของรัฐประหารมีค่าบังคับเท่ากับกฎหมายมานานแล้ว ดูได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาจำนวนมาก และการยอมให้ประกาศคณะรัฐประหารยังคงอยู่หลังจากที่คณะรัฐประหารได้สลายตัวไปแล้ว

นายสมัครเองในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ก็ใช้อำนาจตามคำสั่งคณะรัฐประหารหลายฉบับ โดยเฉพาะประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 (ปร.42) ปิดหนังสือพิมพ์กว่า 20 ฉบับ ซึ่งแสดงว่านายสมัครยอมในคำสั่งคณะรัฐประหารมีค่าบังคับเท่ากับกฎหมาย แต่มายุคนี้ นายสมัครเกิดดัดจริตอะไรขึ้นมาถึงจะไม่ยอมรับคำสั่งคณะรัฐประหารหรือไม่ยอมรับว่า คปค.เป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ถ้าใช้ตรรกะที่นายสมัครอ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ผ่านการโปรดเกล้าฯ แต่ปฏิบัติหน้าที่และได้รับเงินเดือน เป็นการละเมิดพระราชอำนาจแล้ว การตรากฎหมายซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา บัญญัติว่า ต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยจึงจะสามารถประกาศใช้บังคับได้นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญหลายฉบับยังบัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา (ออกกฎหมาย) คณะรัฐมนตรีและศาล

แต่นายสมัครกลับใช้อำนาจตาม ปร.42 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ไม่เป็นการละเมิดพระราชอำนาจเช่นเดียวกับที่นายสมัครกล่าวหาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ผ่านการโปรดเกล้าฯ เป็นการละเมิดพระราชอำนาจหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น