xs
xsm
sm
md
lg

ว.วชิรเมธี เขียน “ความเป็นกลาง = ความเป็นก้าง” (จากเนชั่นสุดสัปดาห์)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ว.วชิรเมธี (ภาพจาก www.tamdee.net)
ผู้จัดการออนไลน์ – ท่าน ว.วชิรเมธี ชี้ทางสว่าง ระบุในทางพุทธ ความเป็นกลางทางการเมืองคือ การยืนอยู่ข้างธรรมะและความถูกต้อง มิใช่การอยู่เฉยๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะการอยู่เฉยๆ นั้นจะนำประเทศไทยไปสู่หายนะ สงสัยระบบการศึกษายิ่งสอนยิ่งทำให้คน “เชื่อง” ส่วนพระสงฆ์ควรเป็นต้นแบบของการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง โดยต้อง ‘ถ่ายทอดธรรม’ ให้กับนักการเมือง แต่ไม่เล่นการเมือง

นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 หน้าที่ 54 ในคอลัมน์ธรรมาภิวัฒน์ ว.วชิรเมธี หรือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้เขียนบทความเรื่อง “ความเป็นกลาง = ความเป็นก้าง” อธิบาย เหตุผลในการวิจารณ์ทางการเมืองของท่านที่ส่งผลเสียต่อรัฐบาล

ทั้งนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบายว่า ท่านไม่เห็นด้วยกับทัศนะของคนไทยส่วนใหญ่ที่ระบุว่า พระต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองด้วยการไม่พูดถึงการเมือง ไม่เล่นการเมือง และควรจะปล่อยวางเรื่องทางโลก มุ่งดับกิเลศอย่างเดียว โดยให้เหตุผลว่า “ในทางพุทธศาสนา ความเป็นกลาง ก็คือ ความเป็นธรรม ธรรมะคือความถูกต้อง ... ดังนั้น ภาวะที่เป็นกลาง การวางตัวเป็นกลาง ก็คือ การวางตนอยู่กับธรรมและธรรมอยู่กับใคร เราก็ควรจะสังกัดอยู่ในฝ่ายนั้น การเป็นกลางจึงไม่ได้หมายถึงการไม่เลือกฝ่าย”

นอกจากนี้ ว.วชิรเมธี ยังกล่าวด้วยว่า “ความเป็นกลาง” ที่คนส่วนใหญ่ รวมถึง นักวิชาการ สื่อมวชนอ้างถึงนั้นเกิดจากความไม่รู้ “การอยู่เฉยๆ ไม่เรียกว่า การวางตนเป็นกลาง แต่ควรเรียกว่า วางตนเป็น ‘ก้าง’ คือ คอยขวางไม่ให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในสังคม ... น่าเป็นห่วงมากที่ในสังคมไทยของเราคิดกันตื้นๆ ว่า การวางตนเป็นกลาง คือ การอยู่เฉยๆ และก็คนกลุ่มใหญ่พยายามขยายแนวคิดนี้ออกไปจนทำท่าจะเห็นดีเห็นงามกันทั้งประเทศ”

“ระบบการศึกษาของคนไทยนี้มันผิดปกติตรงไหนหรือเปล่าที่เมื่อศึกษากันไปๆ ทำไมคนไทยถึงได้ ‘เชื่อง’ มากขึ้นทุกที มหาวิทยาลัย , สื่อมวลชน, วัฒนธรรม ที่ทำให้คนมีความแกล้วกล้าอาจหาญในการที่จะเผชิญกับความอยุติธรรม, ความเลวร้าย, ความฟอนเฟะ, ความสามานย์ของชนชั้นนำ หรือ ของคนทั่วไป ซึ่งเต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบายกลายเป็นจิ้งจอกของสังคม หายไปไหนกันหมด”

“บ้านเมืองที่มากไปด้วยคนที่วางตัวเป็นกลางด้วยการอยู่เฉยๆ นั้น ไม่ต่างอะไรกับการเปิดทางให้ประเทศเดินเข้าสู่ความหายนะอย่างถาวรด้วยความยินดี ความสงบสุขที่ปราศจากปัญญานั้น เป็นความสงบสุขของป่าช้ามากกว่าของอารยชน ความนิ่งที่เกิดจากพื้นฐาน คือ ความกลัวนั้นไม่ต่างอะไรกับความนิ่งของสิงโตหินตามวัด”


ขณะเดียวกันบทความชิ้นดังกล่าวยังอ้างอิงถึงสมัยพุทธกาลด้วยว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน โดยหักล้างคำสอนเรื่องพระพรหม เรื่องระบบวรรณะ นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเอาไว้มากมาย ทรงห้ามทัพ ทรงเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับสงครามระหว่างรัฐต่างๆ รวมถึงเสนอระบบเศรษฐกิจแบบ “ทางสายกลาง” ที่เน้นการบริโภคเพื่อความอยู่รอดมากกว่าการบริโภคเพื่อความมั่งคั่งอย่างไม่รู้จบด้วย

ดังนั้นคำกล่าวที่ว่าพระสงฆ์ไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยสิ้นเชิงนั้น ว.วชิรเมธี จึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตามคำสอนของพุทธศาสนา พระสงฆ์ควร ‘ถ่ายทอดธรรม’ ให้กับนักการเมืองได้ แต่เล่นการเมืองไม่ได้และควรเป็นต้นแบบในการวางตนเป็นกลาง ด้วยการเลือกยืนอยู่ข้างธรรมะ ธรรมะอยู่ที่ไหน พระก็ควรอยู่ที่นั่น
นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น