“ทักษิณทีวี” เผยชื่ออนุญาโตตุลาการ 2 ฝ่าย สปน.เตรียมชง “อัยการสูงสุด” ส่วน “ไอทีวี” ตั้งคนระบอบแม้ว “พงศ์เทพ” หวั่นฮั้วคนกลางทำรัฐเสียเปรียบแสนล้านบาท
วันนี้ (13 ก.ค.) นายจุลยุทธ์ หิรัญยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนกรกฎาคม 2551 นี้ สปน.จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในส่วนของ สปน. (ภาครัฐ) เพื่อพิจารณาสูตรคำนวณค่าปรับค่าสัมปทานที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ค้างค่าชำระกว่า 1 แสนล้านบาท (101,864,543,665.74 บาท) มากว่า 2 ปีตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ร่วมกับอนุญาโตตุลาการฝ่ายบริษัท ไอทีวี
“จะมีการเสนอบุคคลที่สมควรได้รับการเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐเพื่อต่อสู้คดีค่าปรับแสนล้านบาทกับไอทีวี คาดว่าจะเป็นนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดเพื่อเสนอ ครม.รับทราบ”
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ชี้แจงว่า การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐก่อนหน้านั้น ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเสนอ ครม.เพื่อแต่งตั้งนายวิชช์ จีระแพทย์ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีล้มละลาย ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่นายวิชช์ได้ขอลาออกโดยมีการเสนอเรื่องเพื่อให้ ครม.ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รับทราบ ในช่วงที่นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“เรื่องนี้นายจักรภพจะเสนอ ครม.อยู่แล้ว แต่เมื่อนายจักรภพลาออก เรื่องก็ต้องมาชะงักออกไป อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบการจัดตั้งคณะอนุญาโตตุลาการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้น จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2551 นี้”
แหล่งข่าวจากผู้ถือหุ้นไอทีวี เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ทราบว่า ได้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายไอทีวีแล้ว ได้แก่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม สมัยรัฐบาลทักษิณ และปัจจุบันเป็นโฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงประธานมูลนิธิ 111 ไทยรักไทยด้วย
แหล่งข่าวอดีตกรรมการยูเอชเอฟ ชี้แจงว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ตามข้อกฎหมายการตั้งอนุญาโตตุลาการ คณะอนุญาโตตุลาการทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมาประชุมกันเพื่อกำหนดตัวผู้ที่จะเข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการ (คนกลาง) เพื่อร่วมพิจารณาคดีค่าปรับแสนล้านบาท
ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐ (สปน.) ยืนยันทุกครั้งว่า ไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับแสนล้านบาทให้กับรัฐ แต่ทางไอทีวีอ้างว่ารัฐใช้สูตรการคำนวณที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น หากมีการตั้งคนกลางขึ้นมาในลักษณะที่ฮั้วกันก็ทำให้หวั่นว่ารัฐจะเสียเปรียบ
นอกจากนี้ เมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการเดินหน้าก็จะมีการชี้ขาดใน 2 ประเด็น คือ 1.ชี้ขาดกรณีที่ สปน.ฟ้องบริษัท ไอทีวี ผิดสัญญาต้องจ่ายค่าปรับให้รับแสนล้านบาทหรือไม่ และ 2.ชี้ขาดกรณีที่บริษัท ไอทีวี ฟ้อง สปน.ว่าดำเนินการทำให้บริษัทไอทีวีและผู้ถือหุ้นเสียหายและเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ
รายงานข่าวแจ้งว่า ค่าปรับไอทีวีที่อยู่ในวงเงินประมาณ 75,000 ล้านบาท โดยคำนวณมาจากผลตอบแทนค้างจ่ายให้รัฐในปีที่ 9 และปีที่ 10 วงเงิน 1,440 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าปรับ 15% ต่อปี คิดเป็น 1,709 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีค่าปรับจากการการปรับผังรายการที่ในสัญญาระบุไว้ว่า ต้องมีสารคดีและสารประโยชน์ 70% และบันเทิง 30% แต่ไอทีวี ไปปฏิบัติตามอนุญาโตตุลาการโดยจัดทำผังรายการสารคดีและสารประโยชน์ 50% บันเทิง 50% โดยในส่วนนี้สัญญาเขียนว่า จะต้องถูกปรับไอทีวีจะต้องยินยอมชำระค่าปรับในอัตรา 10% ของค่าตอบแทนที่รัฐได้รับในแต่ละปี โดยให้คิดคำนวณค่าปรับเป็นรายวัน
จากประเด็นดังกล่าวหากนับตั้งแต่การจัดผังรายการเดือน เม.ย.47 จนถึงวันที่ 9 พ.ค.49 ที่มีคำตัดสินของศาลปกครองกลาง หมายความว่าไอทีวีจะต้องเสียค่าปรับช่วงสัญญาปีที่ 9 วันๆ ละ 90 ล้านบาท และช่วงสัญญาปีที่ 10 อีกวันละ 100 ล้านบาท เมื่อคำนวณทั้งสิ้นแล้ว จึงคิดเป็นเงินที่ไอทีวีต้องจ่ายให้รัฐกว่า 75,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เป็น กรณีที่บริษัท ไอทีวี ไม่จ่ายผลตอบแทนค้างจ่ายให้รัฐมาเป็นเวลา 2 ปี รวมทั้งค่าปรับจากการการปรับผังรายการที่ในสัญญาระบุไว้ จึงเป็นขั้นตอนที่ สปน.ต้องยึดสัมปทานคืน
แหล่งข่าวจากทำเนียบ ระบุว่า ขณะที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ.2551 ที่มีผลบังคับใช้และได้ออกอากาศอยู่ขณะนี้ จะไม่มีผลเกี่ยวกับคดีการค้างค่าปรับและค่าสัมปทานกว่า 1 แสนล้านบาท ระหว่าง สปน.กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เพราะเป็นคนละเรื่องกัน เนื่องจากขณะนี้มีการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการของทั้ง 2 ฝ่าย และจะมีอนุญาโตตุลาการคนกลาง ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด