ผู้จัดการออนไลน์ - “รัฐตำรวจ” ยังไม่เลิกกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริเวณที่ชุมนุมของพันธมิตรฯ วิศวกรชี้เน้นกวนคลื่นบริเวณเวทีปราศรัย ทำให้เครือข่าย dtac-True Move-Hutch ใช้งานไม่ได้ แหล่งข่าวตำรวจเผยเป็นวิธีดักฟังของเจ้าหน้าที่เพื่อบีบให้เป้าหมายหันไปใช้ช่องทางการสื่อสารที่เจ้าหน้าที่สามารถดักฟังได้
จากกรณีที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร้องเรียนกรณีเจ้าหน้าที่ภาครัฐก่อกวนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณถนนราชดำเนินนอก เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้วยวิธีก่อกวนคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือในเครือข่ายดีแทค จนทำให้เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทคได้ส่งจดหมายถึงสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว
โดยดีแทคชี้แจงว่า หลังจากที่ทางบริษัทส่งทีมวิศวกรเข้าตรวจสอบสัญญาณในบริเวณดังกล่าวก็พบว่าสัญญาณที่ส่งออกจากเครือข่ายของดีแทคนั้นไม่มีปัญหาแต่อย่างใด หากแต่บางครั้งพบว่ามีการส่งสัญญาณแทรกจากภายนอกเข้ามาในระบบ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการขัดข้องในการใช้งานสำหรับผู้ใช้บริการที่อยู่ในบริเวณนั้น นอกจากนี้ทางดีแทคยังได้แก้ปัญหาด้วยส่งรถโมบายเพื่อเพิ่มช่องสัญญาณไปประจำการ พร้อมกับทำหนังสือรายงานเหตุดังกล่าวให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้รับทราบแล้ว
“วิธีการรบกวนสัญญาณที่ ใช้เป็นวิธีการยิงแบบ “ซูม” เน้นเฉพาะจุด โดยจะเน้นจากรบกวนสัญญาณบริเวณเวทีปราศรัย หลังเวที และบริเวณโดยใกล้เคียงเป็นพิเศษ” วิศวกรด้านโทรคมนาคมคนหนึ่งที่เข้าตรวจสอบพื้นที่กล่าวกับเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของพันธมิตร
ล่าสุด วานนี้ (11 ก.ค.) ทางเจ้าหน้าที่ของพันธมิตรฯ ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่เข้ามาร่วมชุมนุม และประสบปัญหาด้วยตัวเอง คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ในเครือข่ายของ ทรูมูฟ และ ฮัทช์ ก็มีปัญหาขัดข้องเรื่องสัญญาณเช่นเดียวกับเครือข่าย ดีแทค มีเพียงโทรศัพท์มือถือในเครือข่าย เอไอเอส เท่านั้นที่สามารถใช้การได้
โดยเมื่อทางเจ้าหน้าที่สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของบริษัท ฮัทช์ ก็ได้คำตอบว่าทางฮัทช์รับทราบกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน โดยได้ทำหนังสือรายงานเรื่องให้ กทช.รับทราบแล้วด้วย
สำหรับกรณีดังกล่าว แหล่งข่าวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้หนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตกับผู้จัดการออนไลน์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวิธีการของเจ้าหน้าที่ในการดักฟัง ซึ่งกระทำโดยใช้วิธีตัด หรือ รบกวนคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ที่มิอาจดักฟังได้ เพื่อบีบให้เป้าหมายหันไปใช้สัญญาณโทรศัพท์ที่ทางเจ้าหน้าที่สามารถดักฟังได้แทน
กระนั้นปัจจุบันการลักลอบดักฟังการสนทนา ในทางกฎหมายของไทยบัญญัติว่าเป็นความผิดในทางอาญา ซึ่งครอบคลุมถึงผู้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย