วุฒิสภาพบสื่อชื่นมื่น ประธานวุฒิฯ ยันจะรักษาความเป็นทองแท้ เปิดให้ฟัง กมธ.ประชุมอย่างเปิดเผย เตรียมยื่นกระทู้-เปิดอภิปรายทั่วไป รบ.ซ้ำอีกจนกว่าจะได้คำตอบที่พอใจ อัดนายกฯ ไม่ให้เกียรติสภาสูง “รสนา” ตามจิกสมบัติชาติคืนจาก ปตท.
วันนี้ (4 ก.ค.) ที่รัฐสภา ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้จัดโครงการวุฒิสภาพบสื่อมวลชน โดยมีนาย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา พร้อมรองประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา 22 คณะ และสื่อมวลชนประจำรัฐสภาเข้าร่วม ซึ่งนายประสพสุขได้กล่าวให้ความมั่นใจกับสื่อมวลชนว่า วุฒิสภาจะรักษาความเป็นทองแท้ไว้ จะทำงานโดยยึดประโยชน์ของประเทศ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เรื่องใดที่ทำให้บ้านเมืองมีปัญหา ส.ว.ก็พร้อมที่ดำเนินการคลี่คลาย ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล กล่าวว่า ส.ว.ต้องพิสูจน์ตนเอง และยินดีให้สังคมและสื่อตรวจสอบการทำงานว่า ส.ว.มีอคติหรือไม่ ฉะนั้นมีอะไรขอให้ติติง เพื่อไม่ให้ ส.ว.อยู่ในความมืด
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สมัย ส.ว.เลือกตั้งชุดแรก พบมากับตาตัวเองว่ามี ส.ว.ตั้งกลุ่มก๊วนและโทรศัพท์หาอดีตนายกฯ คนหนึ่งต่อหน้ารัฐมนตรีโดยระบุว่า รวบรวม ส.ว.ได้ 120 คนแล้วเพื่อสื่อว่าจะทำอะไรก็ได้ในวุฒิสภา ดังนั้น ในวุฒิสภาชุดนี้ถ้าใครตั้งกลุ่มก๊วนต่อรองผลประโยชน์ ถ้าทราบก็ยินดีจะชี้เบาะแสให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการพบปะสื่อเป็นไปด้วยความชื่นมื่น โดย ส.ว.ให้หลักประกันว่าการประชุมคณะกรรมาธิการทุกคณะจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังโดยยึดหลัก “เปิดเผยเป็นการทั่วไป ปกปิดเป็นการยกเว้น” เพื่อให้การทำงานของ ส.ว.โปร่งใส และส.ว.จะได้ทำการบ้านมาทำงานอย่างเต็มที่
ด้าน น.ส.รสนา กล่าวภายหลังการเสวนาว่า รัฐบาลยังไม่ได้ตอบคำถามเรื่องทรัพย์สินของ ปตท.ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้คืนให้แก่สาธารณะภายหลังนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งทางกลุ่มจะหารือเพื่อติดตามเรื่องนี้ต่อไป ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการจะยื่นฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนประเด็นที่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ดำเนินการผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบทางการเมือง และทางอาญา โดย ส.ว.จะศึกษาขั้นตอนทางกฎหมายว่าใครจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการต่อไป