กต.อ้างไม่ต้องแก้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จดมรดกโลกพระวิหาร หลัง ครม.เปลี่ยนแปลงมติ แก้คำว่า แผนที่เป็นแผนผัง อ้างแค่ปรับคำให้ตรงความหมายในภาษาอังกฤษก็พอ ยอมรับ อธิบายสังคมยาก ต้องออกปกขาวป้อง “นพดล” พร้อมจัดสัมมนาฟอกตัว 30 มิ.ย.นี้
เวลา 14.00 น.วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารสนเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงยอมรับว่า ไม่มีการแก้ไขในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ลงนามร่วมกับรัฐมนตรีกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่อย่างใด เพราะแถลงการณ์เดิมนั้น ในเนื้อหาระบุชัดว่าทางกัมพูชาได้ส่งแผนผังแนบท้าย แต่เพื่อความสอดคล้องจึงได้มีการปรับถ้อยคำให้สอดคล้องและตรงกันตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการปรับแก้ถ้อยคำให้เป็นไปตามที่กัมพูชาเสนอแผนผังแนบท้ายมาเท่านั้น ซึ่งแถลงการณ์ทั้งหมดยังคงหลักการเดิมทุกประการ
“ไม่ได้มีการปรับแก้แถลงการณ์ร่วมใดๆ เพราะแถลงการณ์เดิมทางกัมพูชาได้ใช้คำว่าแผนผัง ดังนั้นเป็นแค่การปรับคำในมติ ครม.ให้ตรงกันกับคำว่าแผนผังที่ทางกัมพูชาใช้ จึงมีมติให้ปรับแก้ถ้อยคำจากแผนที่แนบท้ายเป็นแผนผังแนบท้ายเท่านั้น เหมือนกับการปรับแว่นของคนสองคนให้ชัดเจนตรงกันเท่านั้นเอง”
นายธฤต กล่าวยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นอย่างมากในการอธิบายทำความเข้าใจแก่ประชาชน ดังนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงได้ออกสมุดปกขาว 40 หน้า ที่สรุปความเป็นมาของคำตัดสินของศาลโลก และ คำชี้แจงโดยสรุปของ รมว.กระทรวงการต่างประเทศโดยย่อๆ พร้อมกับจะเปิดสัมมนาสำหรับนักวิชาการและสื่อมวลชนทุกแขนงในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เวลา 14.00-16.00 น.เพื่อเปิดให้มีการซักถามข้อสงสัยได้อย่างเต็มที่
นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่าจะแถลงประเด็นที่ตกหล่นจากการอภิปรายในสภาที่ยังต้องสร้างความชัดเจน คือ การขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชาไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในขณะที่ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากว่า แท้จริงแล้วคำตัดสินของศาลโลก ระบุว่า กัมพูชามีสิทธิเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหาร หรือรวมไปถึงอธิปไตยที่เป็นแผ่นดินใต้ตัวปราสาทด้วยหรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้ว คำตัดสินศาลโลกระบุชัดเจนว่า พื้นที่ดินใต้ตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นอธิปไตยของกัมพูชา
ทั้งนี้ ประเด็นที่ถกเถียงกันมาก ว่า หากไทยสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงลำพัง จะทำให้ไทยเสียหรือสละสิทธิ์ในการต่อสู้ทางกฎหมายทวงคืนสิทธิ์ หากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายระหว่างประเทศใหม่ในอนาคต ที่จะทำให้ไทยสามารถนำไปต่อสู้คดีได้นั้น ยืนยันว่า คำสั่งศาลโลกที่ตัดสินนั้น ระบุชัดเจนว่า คำสั่งศาลโลกมีอันที่สิ้นสุด และเกินเวลา 10 ปี ที่ทางฝ่ายไทยจะขอทวงสิทธิ์ได้ หากพบว่ามีหลักฐานใหม่ที่จะชี้ชัดได้ว่า ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย