สุดอดสู “นพดล” ยอมก้มหัว-ไม่เปิดเผยแผนที่ทับซ้อน “เขาพระวิหาร” ให้ประชาชนชาวไทยได้รับรู้ อ้างเหตุเพราะ “กัมพูชา” ขอร้อง หวั่นชาวเขมรลุกฮือต่อต้านจนกระทบต่อการเลือกตั้ง ด้าน “ทหาร” ชี้ข้ออ้างไร้น้ำหนัก ย้ำชัดต้องทำให้โปร่งใส
วานนี้ (17 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ได้นำร่างแถลงการณ์ และแผนที่ที่กัมพูชาจะยื่นให้ยูเนสโก้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ให้ ครม.ดูแล้ว โดยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เก็บเอกสารทั้งหมดกลับไป โดยนายนพดลชี้แจงว่าทางกัมพูชาได้ขอร้องว่าอย่าให้รัฐบาลไทยนำผลการเจรจาที่กัมพูชาได้ยอมตามข้อทักท้วงของรัฐบาลไทยมาแถลงต่อสาธารณชน เพราะจะทำให้ประชาชนกัมพูชาต่อต้านรัฐบาล ซึ่งจะกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะกำลังจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ นายนพดลยังได้ชี้แจงรายละเอียดที่ได้รายงานให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ให้ ครม.รับฟังว่า กัมพูชายอมรับในข้อทักท้วงของไทยที่ไม่ต้องการให้กัมพูชาใช้แผนที่ของฝรั่งเศสไปยืนยันต่อการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เพราะจะมีพื้นที่บางส่วนของไทยที่ยังตกเป็นข้อพิพาทเรื่องเขตแดนประมาณ 10 เมตร ถูกรับรองรวมไปได้ และทางกัมพูชาควรใช้แผนที่ตามมติ ครม.2505 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งใช้เขตแดนโดยนับจากตัวปราสาทเขาพระวิหารไปทางตะวันตก 100 เมตร และ ขึ้นไปทางเหนือ 20 เมตร ซึ่งเป็นแผนที่ที่รัฐบาลของ 2 ประเทศเห็นชอบร่วมกันตามแผนที่ L 7017 ไปเสนอกับยูเนสโก้แทน
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากัมพูชาแจ้งกลับมายังรัฐบาลไทยมาตลอดว่า สายเกินไปแล้วไทยที่จะหยุดยั้งกระบวนการต่างๆ ที่ได้คืบหน้าไปมากแล้ว อีกทั้งยังยืนกรานว่าการจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก จะไม่ส่งผลกระทบเส้นเขตแดนของไทย และขอให้ไทยยอมไปก่อน แล้วค่อยมาทำความตกลงในรายละเอียดอื่นๆ กันภายหลัง อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมเห็นชอบให้มีการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารอีกครั้งหนึ่งในการประชุม WHC ครั้งที่ 32 ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นที่เมือง Quebec ประเทศแคนาดา ในเดือน ก.ค.กลางปี 2551
“ในที่ประชุม สมช.รับฟังข้อมูลจาก รมว.ต่างประเทศ โดยนายนพดลได้เล่าให้ฟังว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งครั้งนี้กัมพูชายอมไทยมากกว่าครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.เตีย บัณห์ รมว.กลาโหม ของกัมพูชา ไม่เคยยอมเราเลยแม้แต่ครั้งเดียว ถ้าเขายอมโดยไม่มีเงื่อนไข ก็ต้องให้เครดิตทางกระทรวงการต่างประเทศ แต่ใน ครม.เขาก็เอาแถลงการณ์ และแผนที่มาให้ดู” รายงานข่าว ระบุ
ด้าน แหล่งข่าวทางทหาร กล่าวว่า น่าสังเกตว่าทำไมกัมพูชาจึงได้ยอมไทย ทั้งๆ ที่ผ่านมายืนกรานมาตลอด ไม่รู้ว่าในการเจรจานั้นมีรายละเอียดอย่างไร เพราะไม่มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง และน่าสงสัยว่าการเลือกตั้งของกัมพูชาจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.นี้ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็เดินหน้ามามาก ไม่น่าจะนำมาเกี่ยวข้องกัน ทำไมต้องให้รัฐบาลไทยปกปิดข้อมูลดังกล่าว และไม่ยอมให้ทุกฝ่ายได้ร่วมดูแผนที่ด้วยกัน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรจะทำให้โปร่งใสมากกว่านี้