"เอ็นบีที"ไล่งับทีวีไทยฯ ไม่เลิก ทำสกู๊ปป้ายสี กล่าวหาลำเอียงเข้าข้างพันธมิตรฯ ยกคำร้อง"ดร.วรพล"มากล่าวอ้าง แถมจำขี้ปากนักเล่นกระทู้"พันทิป"เหน็บแนมเป็นเอเอสทีวีในรูปแบบฟรีทีวี หนำซ้ำตัดต่อคำพูดนักวิชาการมาด่า
วันนี้ (5 มิ.ย.) ข่าวภาคค่ำทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษ “สื่อเป็นพิษ ตอนที่ 4” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อทีวีสาธารณะ “ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” หรือ ไทยพีบีเอส เดิมว่า การทำหน้าที่ของ ทีวีไทยฯ ในวันที่ 31 พ.ค.และวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ถูกเครือข่ายประชาชนประชาธิปไตย โดยการนำของ นายวรพล พรหมิกบุตร นักวิชาการคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือประท้วงบทบาทการทำหน้าที่ของทีวีไทยฯ โดยระบุว่า มีความลำเอียงทางการเมือง และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ทีวีไทยฯ ถูกโจมตีจากผู้ชมเป็นจำนวนมากในเว็บไซต์พันทิป ว่าเป็น “เอเอสทีวีในรูปแบบฟรีทีวี”
ถึงแม้จะมีการนำคำให้สัมภาษณ์ของ นายเถลิง สมทรัพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ ทีวีไทยฯ ที่กล่าวว่า “เราไม่ใช่เอเอสทีวี เราก็เป็นทีวีสาธารณะ จะเอาเทปมาย้อนดูก็ได้ เพราะเมื่อดูแล้วจะเห็นว่าบุคคลที่มาออกอากาศและทิศทางที่เราทำข่าว ก็เห็นได้ชัดว่า เราเปิดพื้นที่ เราก็เสนอข่าวสารให้ทุกคนได้ทราบกันว่าที่นั่นมันเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ให้ทั้งสองฝ่ายสื่อสารกัน ณ วันนั้นสื่อต้องทำหน้าที่ เพราะว่าจุดโฟกัสอยู่ที่นั่น มันไม่ใช่เรื่องเล็กนะ เพราะนายกฯ ออกรายการสดประกาศจะแตกหักกับม็อบ แล้วก็ระดมทหาร และหน่วยปราบจลาจลเข้ามาหลายร้อยนาย ซึ่งท่านนายกฯ ก็ประกาศทั่วทั้งประเทศ คนก็ต้องอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และเราก็มีบทเรียนหลายต่อหลายครั้งแล้ว ว่า เมื่อสื่อปิดข้อเท็จจริงเอาไว้คนก็จะแห่ไปดู ซึ่งทางสถานีเราก็ไม่ได้ไปชี้นำว่าจะต้องไป หรือไม่ไป เราก็เสนอให้ดูว่ารัฐบาลมีท่าทีอย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลมีอะไร รัฐสภาจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ฝ่ายพันธมิตรฯ ว่าอย่างไร”
แต่รายงานดังกล่าวก็ได้หยิบเอาคำให้สัมภาษณ์ของ นางเอื้อจิตร์ วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์ ที่กล่าวตำหนิการทำงานของทีวีไทยฯ ว่า ไทยพีบีเอส ถูกคาดหวังจากสังคมสูง ดังนั้น จึงต้องไปสูงกว่านั้น คือ นอกจากจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารรอบด้านแล้ว ยังต้องนำเสนอทางออกให้สังคมด้วย และในวันนั้น ทางไทยทีวีฯ ก็นำเสนอข่าวแค่ว่าตำรวจจะสกัดตรงมวลชนตรงไหน ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนการชุมนุมไปยังไง และเชิญนักวิชาการมาวิเคราะห์เหตุการณ์ โดยที่ไม่ได้นำนักวิชาการที่เสนอทางออกมาเลย
“การรายงานข่าววันนั้น มันมีแค่ว่าจะสกัดตรงไหน จะบุกตรงไหน โอเคในแง่ประเด็นข่าวมันใช่ แต่ถ้าทำแค่นั้นมันเหมือนคุณนั่งดูแมว เวลามันกำลังจะกัดกันมันจะขู่กันนานมาก ซึ่งมันอาจจะจบโดยการกัดกัน หรือวิ่งหนีทั้งคู่ก็ได้ แต่คุณก็นั่งจ้องอยู่ว่ามันจะกัดกันเมื่อไหร่ ทำไมคุณไม่คิดว่าจะทำยังไงให้มันไม่กัดกัน” เอ็นบีพีอ้างคำพูดของนางไพจิตร์
ในช่วงท้ายสกู๊ปดังกล่าว ได้บรรยายสรุปว่า การรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ น่าจะเป็นอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่จะทำให้สื่อต้องทบทวนบทบาท และหน้าที่อันควรจะกระทำให้ฐานะของสื่อในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้ ในการรายงานข่าวของสถานีไทยทีวีฯ เรื่องการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. และ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ถูกตำหนิจากกลุ่มคนสนับสนุนให้มีการแก้ไข รธน.เป็นจำนวนมากเนื่องมาจากทีวีช่องดังกล่าวทำการเสนอข่าวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มากกว่าฟรีทีวีช่องอื่นๆ คือ มีการยกระดับเหตุการณ์ชุมนุมว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีการเปลี่ยนแปลงผังรายการยกเลิกรายการปกติ เพื่อจัดเป็นรายการพิเศษ เกาะติดเหตุการณ์การชุมนุม
อย่างไรก็ตาม เป้นที่น่าสังเกตว่ารายงานพิเศษของเอ็นบีทีชิ้นนี้ ไม่ได้นำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วน เพราะในวันดังกล่าวทีวีไทยฯ ไม่ได้นำเสนอเพียงเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ก็ได้มีการเชิญนักวิชาการจากหลายฝ่ายมาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกของปัญหา เช่น การเชิญนายโคทม อารียา มาให้แนวคิดว่าทั้งสองฝ่ายควรหันหน้าคุยกันอย่างสันติวิธี หรือการนำกลุ่มนักศึกษาเครือข่ายประชาธิปไตย เห็นต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง (ที่มี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นแกนนำ) มาสัมภาษณ์รณรงค์ขอให้ทุกฝ่ายหาทางออกแบบสันติวิธีและอย่าใช้ความรุนแรง แต่รายงานดังกล่าวกลับไม่นำมาเอ่ยถึงเลย
อีกทั้งในรายงานดังกล่าว ยังไม่วายที่จะพาดพิงถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ในเครือผู้จัดการ โดยได้มีการนำคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี ที่กล่าวว่า “ในแง่ของสื่อมวลชน มันก็คงทำไม่ได้ นั่นก็เป็นอีกบทบาทหนึ่ง ที่เราทำให้คุณสนธิให้นโยบายว่า” กล่าวเพียงเท่านี้ เสียงบรรยายในรายการดังกล่าวก็กล่าวสรุปว่า “ผู้บริหารเอเอสทีวี ยอมรับว่าวันนี้ไม่สามารถแยกการนำเสนอข่าวของเอเอสทีวี ซึ่งเป็นสื่อมวลชนออกจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” แล้วจึงค่อยเริ่มรายงานเนื้อหา ซึ่งคำบรรยายดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในรายงานเลย ทำให้ดูเหมือนว่ารายงานดังกล่าวพยายามที่จะโยงให้ ไทยทีวีฯ มีความเกี่ยวข้องกับ เอเอสทีวี