เลขาฯ ป.ป.ช.เข้าให้ข้อมูล คกก.ไต่สวนมัดคุณสมบัติ “ไชยา” ระบุหลักฐานข้อมูลครบถ้วนเตรียมสรุปความเห็นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กกต.สัปดาห์หน้า
วันนี้ (16 พ.ค.) คณะกรรมการไต่สวนกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ที่ปกปิดข้อมูลการถือหุ้นของภรรยาเกินกว่าร้อยละ 5 ของ กกต.ที่มีนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธาน ได้เชิญนายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช.ชี้แจง โดยนายศราวุธกล่าวหลังการชี้แจงกว่า 2 ชั่วโมงว่า ได้ชี้แจงในประเด็นที่ไปบรรยายเรื่องการยื่นทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ครม.ว่ามีข้อเท็จริงอย่างไร โดยได้ระบุว่าบรรยายในข้อกฎหมายทั้งเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมไปถึง พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของ ครม.และวิธีปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้ระบุเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินและการถือหุ้นของภรรยา ซึ่งกรณีของนายไชยาเพิ่งมีกฎหมายบัญญัติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และการที่นายไชยาระบุว่ากฎหมายไม่ได้ระบุให้ภรรยาห้ามถือหุ้น และจะนำประเด็นดังกล่าวไปสู้ในชั้นศาลนั้น ตนคงไม่ออกความเห็นเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลตนคงไม่ก้าวล่วง
ด้าน นายอิศระ กล่าวว่า เลขาฯ ป.ป.ช.ได้ให้ข้อมูลตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.ทำหนังสือส่งมายังกกต.ให้ดำเนินการจากการสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ก็ได้ความตามที่ป.ป.ช.เห็น แต่เราคงไม่สามารถเปิดเผยว่า เลขาฯ ป.ป.ช.ให้ข้อมูลอย่างไร เพราะถือเป็นเรื่องลับ ส่วนความเห็นของคณะกรรมการนั้นจะต้องมีการประชุมกันในวันที่ 21 พ.ค. โดยระหว่างนี้จะนำข้อมูลไปศึกษาข้อกฎหมายหลายฉบับที่มาเกี่ยวพันกัน เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 269, รัฐธรรมนูญฉบับฉบับ 2540 รวมทั้ง พ.ร.บ.การจัดการจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรีฉบับ พ.ศ.2543 แต่คงไม่เชิญใครมาชี้แจงอีกแล้ว เพราะถือว่าการชี้แจงครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้หลังจากศึกษาข้อกฎหมายและรายละเอียดแล้วก็จะยกร่างข้อเท็จจริงและข้อต่อสู้ของแต่ละฝ่ายไว้ก่อน จากนั้นในที่ประชุมสัปดาห์หน้าก็จะมาสรุปข้อกฎหมายในที่ประชุมเพื่อลงมติ
“ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการต้องดูข้อกฎหมายว่า เมื่อพรบ.จัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรีฉบับ พ.ศ.2543 ออกมาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 40 กำหนดเฉพาะหน้าที่ของรัฐมนตรีในการแสดงหุ้นเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ขยายความไปถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้น เราต้องพิจารณาว่าการแจ้งของคู่สมรสและบุตรจะต้องทำอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญปี 50 ว่ามีผลไปถึง พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรีหรือไม่ โดยเฉพาะคำว่าอนุโลมใน พ.ร.บ.การจัดการหุ้นฯ นั้นหมายความว่าอย่างไร”
เมื่อถามว่า ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนนั้นได้กำหนดไว้หรือไม่ว่า รัฐมนตรีต้องแจ้งแสดงเฉพาะหุ้นที่ตัวเองได้รับประโยชน์ นายอิสระ กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ไม่ได้ระบุ เพราะพ.ร.บ.ปี 43 ออกตามมารัฐธรรมนูญปี 40 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีและหุ้นของรัฐมนตรีเท่านั้น แต่มาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ระบุให้รัฐมนตรีแจ้งหุ้นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยอนุโลม ที่ถือว่าเป็นการแจ้งโดยหน้าที่ ส่วนจะประสงค์ขอรับประโยชน์หรือไม่ ต้องแจ้งต่อ ป.ป.ช.อีกครั้ง
ส่วนกรณี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้นำคำร้องของ ส.ว.เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาการขาดคุณสมบัตินายไชยา และหาก กกต.ยังส่งไปอีกถือเป็นการซ้ำซ้อนหรือไม่ นายอิศระ กล่าวว่า ถือเป็นกระบวนการอีกชั้นหนึ่งที่ ป.ป.ช.ยื่นไปทางวุฒิสภา ซึ่งตนเห็นว่าขั้นตอนของ กกต.เป็นส่วนหนึ่ง ที่อาจจะมีความเห็นแตกต่างจากคำร้องของ ส.ว. ส่วนข้อกฎหมายก็ยังไม่ได้เห็นคำร้องของ ส.ว.ที่ส่งไป ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงจะพิจารณาแค่ประเด็นที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมา และจะนำข้อเท็จจริงต่างๆ ไปปรับกับข้อกฎหมาย โดยเราจะรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม กกต.ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ทางคณะกรรมการฯ ก็กำลังพิจารณาและจะเสนอความเห็นนี้ไปยัง กกต.ด้วย ส่วน กกต.จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ถือเป็นดุลพินิจของ กกต.