อดีต สนช.ไล่จี้กระตุกต่อมสำนึก “ชัย ชิดชอบ” สร้างมาตรฐานก่อนขึ้นหิ้งประมุขนิติบัญญัติ เชื่อคดีฮุบที่ดิน ร.ฟ.ท.สร้างรอยด่างให้กับว่าที่ประธานคนใหม่ ขณะเดียวกัน หวั่นภาพลักษณ์ที่ไม่แน่นอนของประเทศส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนของต่างชาติ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการคนในข่าว
รายการ “คนในข่าว” ทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 14 พฤษภาคม นางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ผู้ดำเนินรายการ ได้เปิดประเด็นซักถาม พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฐพร วงษ์ประยูร อดีตคณะอนุกรรมาธิการคมนาคม สนช. ถึงอนาคตการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ของนายชัย ชิดชอบ หลังพัวพันคดีบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวเปิดประเด็นว่า บทสรุปการตรวจสอบกรณีการบุกรุกที่ดินของกลุ่มนักการเมืองในจังหวัดบุรีรัมย์ของคณะกรรมการทั้งสามชุดที่ตั้งมาในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้สรุปผลสอบสวนออกมาตรงกัน คือ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านักการเมืองในจังหวัดบุรีรัมย์บุกรุกที่ดินของ ร.ฟ.ท.บริเวณเขากระโดง จำนวน 2 แปลง จริง ถึงแม้เรื่องจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ว่าที่ประธานสภาฯ ก็ควรแสดงสปิริต สร้างมาตรฐานให้เป็นแบบอย่างต่อคนรุ่นหลัง
“วันนี้คนที่ร่วมกันตรวจสอบการบุกรุกที่ดินของ ร.ฟ.ท.ต้องมีอันเป็นไป โดนโยกย้ายออกจาพื้นที่ก็มาก จนทำให้การตรวจสอบสาวไปไม่ถึงผู้ที่กระทำความผิด ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมที่ดิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง อย่าปล่อยให้คดีเหล่านี้เลือนหายไป” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว
ขณะที่ นายณัฐพร กล่าวเรียกร้องให้กรมที่ดินอย่าเลี่ยงการปฏิบัติในการเพิกถอนสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว หลักฐานมันชัดเจน สามารถเอาผิดคนที่โกงแผ่นดินได้ ถึงแม้นายชัย จะกล้าการันตีตำแหน่งตัวเอง ไม่สนคดีบุกรุกจะไปสร้างผลกระกับตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นการมองที่ผิด อย่าลืมการพิสูจน์มันต้องดูที่หลักฐาน ไม่ใช่ดูเพียงคำพูด ที่ผ่านมาเอกสารมันชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน มีการบุกรุกที่ดิน ร.ฟ.ท.เข้าไปครอบครองแล้วก็นำที่ดินนั้นกลับมาหาผลประโยชน์จาก รฟท.อีกทอดนึง ดังนั้นเชื่อว่าหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เห็นพ้องตามคณะกรรมการสอบสวน ตำแหน่งของนายชัย ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ทางด้านนายเกียรติ กล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการนั้น คนที่จะมาดำรงตำแหน่งต้องมีความสง่างาม อดีตเคยไม่สบายใจกับการเลือกนายสมัคร สุนทรเวช มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยการปล่อยให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช มาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเสี่ยงต่อการพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากติดคดีทุจริตซื้อเสียงที่จังหวัดเชียงราย
วันนี้รัฐบาลกำลังสร้างภาพลักษณ์แบบเดิมๆ ขึ้นมาอีก คือ นำคนที่มีคดีความติดตัวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญ สร้างความสงสัยในสายตาจากนานาประเทศ ที่ส่วนมองและถามถึงอนาคตและเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นการทวงถามเพื่อที่จะนำข้อมูลกลับไปประเมิน และส่งสัญญาณให้กับนักลงทุนในประเทศนั้นๆ พิจารณาการลงทุนในประเทศไทย รัฐบาลไม่ควรสร้างบรรยากาศน่าเป็นห่วง ดูอย่างประเทศญี่ปุ่น เพียงแค่รถไฟตกราง รัฐมนตรีคมนาคมยังประกาศลาออกจากตำแหน่งทันที