xs
xsm
sm
md
lg

เผยบทความ “อัยการ” อ้าง “ธงทักษิณ” ไม่ผิด พรบ.ธง แต่ “พันธมิตร” ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพธงชาติไทยขนาดใหญ่ที่มีเขียนคำว่า THAKSIN ถูกนำมาติดอยู่บนอัฒจรรย์ของสนามซิตี้ออฟแมนเชสเตอร์สเตเดียมของแมนฯซิตี้ที่มีพ.ตท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานสโมสร
เผยบทความของ “อัยการประจำกรม” แก้ต่างให้ “ทักษิณ” เสร็จสรรพ อ้างภาพธงชาติที่มีชื่อ “ทักษิณ” ไม่ผิดทั้งกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ธง แต่ผิดเพียงจริยธรรมเพราะเจ้าตัวไม่รู้ไม่เห็น เป็นฝีมือของแฟนบอล และออกมาขอโทษแล้ว ทั้งที่ข้อเท็จจริง “ทักษิณ” อ้างเพียงว่า แฟนบอลชาวอังกฤษฝากมาขอโทษ และมีหลักฐานยืนยันว่า “ทักษิณ” เคยเห็นธงดังกล่าวมาแล้ว ส่วนกรณีธงของพันธมิตรฯ ที่มีแกนนำยืนอยู่ด้านหน้านั้น อัยการระบุไม่ผิดกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน แต่ผิด พ.ร.บ.ธง เพราะยืนอยู่หน้าธงชาติชัดเจน จะอ้างว่าเป็นภาพวาดไม่ได้ แต่ความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาลไทย เพราะเหตุเกิดในต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ธง...ธงชาติ” โดย วัชรินทร์ สังสีแก้ว ระบุว่าผู้เขียนเป็นอัยการประจำกรม โดยผู้เขียนเปรียบเทียบระหว่าง ธงชาติที่ปรากฏชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่แขวนไว้ที่สนามฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี กับมีการใช้สีลายธงชาติเขียนเป็นฉากหลังและมีชื่อแกนนำพันธมิตรเขียนอยู่บนสีลายธงชาติ ตามที่ปรากฏในสื่อหลายฉบับ

นายวัชรินทร์ ได้ชี้ว่า กรณีแรกที่จะต้องนำมาพิจารณา คือ ปัญหาว่าทั้งสองกรณีเป็นการกระทำผิดทางอาญาหรือกฎหมายใดหรือไม่

จากนั้น นายวัชรินทร์ได้นำภาพฉากของพันธมิตรฯ มาพิจารณา โดยชี้ว่า การนำผ้ามาทำสีเป็นลายธงชาติหรือนำไม้หรือวัสดุอื่นใดมาทาสีให้มีลักษณะเหมือนธงชาติ ทำให้วิญญูชนคนทั่วไปที่พบเห็นและเข้าใจว่าเป็นธงชาติแล้ว ข้ออ้างที่ว่าเป็นแค่ไม้ ผ้า เหล็ก สีพ่นควัน ฯลฯ ย่อมฟังไม่ขึ้น เนื่องจากคุณธรรมทางกฎหมายหรือสิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองคือธงอันเป็นเครื่องหมายแห่งรัฐ ซึ่งเครื่องหมายแห่งรัฐอาจรวมสิ่งอื่นด้วย อาทิ ตราครุฑ เป็นต้น

และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 118 ก็บัญญัติว่าเป็นการกระทำต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ ดังนี้ การนำไม้ ผ้า หรือวัสดุอื่นใดมาทาสี พ่นสี เย็บติดกันให้มีสีคล้ายธงชาติอันมีลักษณะมีความหมายถึงรัฐ ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายวัชรินทร์ยังแสดงความเห็นต่อมาว่า การที่จะเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว ยังต้องมีเจตนาพิเศษ คือ ต้องกระทำเพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ เช่น ปัสสาวะรด เหยียบย่ำ กระทืบ เผาไฟ เอาเช็ดเท้า เพียงแต่เขียนชื่อใส่ในธงชาติทั้งสองกรณี เมื่อไม่มีเจตนาเหยียดหยามประเทศชาติ จึงยังไม่ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว

หรือหากเทียบกับกรณีนักกีฬาไทยชนะในการแข่งขันเอาธงชาติพันรอบตัว จะถือว่าเป็นการนำธงชาติมานุ่งห่มอันเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ ยังไม่ถนัดนัก

เท่ากับว่า ในประเด็นกฎหมายอาญานั้น นายวัชรินทร์พยายามชี้ให้เห็นว่า แม้ว่า พันธมิตรจะมาอ้างว่า รูปธงชาติเป็นภาพวาดบนไม่หรือผ้า ก็เข้าข่ายลักษณะธง แต่ทั้งสองรูปคือรูปธงที่เขียนชื่อทักษิณ และรูปธงของพันธมิตรไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดตากฎหมายอาญา

จากนั้น อัยการประจำกรมรายนี้ได้หยิบยกเอา พระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522 มาพิจารณา โดยมาตรา 53 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อธงชาติ ด้วยการประดิษฐ์รูป ตัวอักษร หรือเครื่องหมายอื่นใดในผืนธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีธง นอกจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

โดยระบุว่า เมื่อมีการนำชื่อมาเขียนไว้บนผืนธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีธง ทั้งการกระทำที่เมืองแมนเชสเตอร์ และของกลุ่มพันธมิตร จึงถือว่าผิดตามพระราชบัญญัติธงดังกล่าวแล้ว

จากนั้น นายวัชรินทร์ สรุปว่า การกระทำที่เมืองแมนเชสเตอร์ อดีตนายกฯ อาจไม่ได้ทำหรืออาจไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากแฟนบอลที่เข้าชมก็นำผ้ามาเชียร์เอง โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลถ้วยยุโรป (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) จะเห็นป้ายผ้า ธง ผูกตามราวจับทำนองเดียวกับธงชาติไทยอยู่ทุกแมตช์ที่มีการแข่งขัน ข้ออ้างว่าเป็นเรื่องแฟนบอลก็พอฟังได้

ส่วนภาพธงชาติไทยที่อยู่ด้านหลังกลุ่มพันธมิตรฯ นายวัชรินทร์ ระบุว่า คงจะอ้างว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น คงอ้างได้แต่มีน้ำหนักน้อย เพราะตามภาพถ่ายมีแกนนำก็ยืนอยู่หน้าภาพรูปจำลองธงชาติอย่างชัดเจน พร้อมระบุว่า ทั้งตามหลักกฎหมายอาญา ผู้กระทำ (ตัวการ) ต้องกระทำโดยเจตนา ซึ่งรวมถึงผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ก็ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเช่นเดียวกัน เมื่ออดีตนายกฯ อ้างว่าเป็นการกระทำของแฟนบอล คงต้องดูว่าได้เป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนหรือไม่ ส่วนภาพถ่ายหน้าธงชาติของกลุ่มพันธมิตรฯ คงอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายวัชรินทร์ ระบุด้วยว่า หากเห็นว่าการกระทำทั้งสองกรณีเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติธงดังกล่าวก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจการสอบสวน อำนาจพิจารณา พิพากษาของศาลไทย

โดยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 7 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ (1)...(3)” ซึ่งบัญญัติสอดคล้องตามหลักความผิดสากล ที่หลายๆ ประเทศจะบัญญัติไว้คล้ายๆ กัน อาทิ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น ลอบปลงพระชนม์ ก่อกบฏ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ การกระทำต่อธงอันเป็นการเหยียดหยาม ฯลฯ ความผิดเกี่ยวกับโจรสลัด ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงเงินตรา ความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงค้าเด็ก

เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522 ไม่ได้ให้เป็นความผิดสากลตามมาตรา 7 ตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำต่อธงในต่างประเทศจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลไทย ทั้งตามมาตรา 8 ก็ไม่ได้ระบุถึงการกระทำต่อธงให้เป็นความผิดที่สามารถลงโทษในประเทศได้

“การที่มีผู้เขียนชื่ออดีตนายกฯ บนผืนธง จึงไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษในประเทศไทย” นายวัชรินทร์ แสดงความเห็น

อัยการประจำกรมรายนี้ ปิดท้ายบทความของเขาด้วยคำถามว่า ส่วนอดีตนายกฯ จะทราบหรือไม่ ก็ถือเป็นเรื่องความเหมาะสมและเป็นเรื่องจริยธรรมส่วนบุคคล ซึ่งฝ่ายพันธมิตรเรียกร้องมาโดยตลอด เมื่ออดีตนายกฯ ออกมาขอโทษคนไทยแล้ว คงต้องพิจารณากลุ่มพันธมิตรเอง ซึ่งได้กระทำผิดในราชอาณาจักร ที่ต้องพิจารณาว่าจะมีจริยธรรมต่อบ้านเมืองหรือคนไทยเพียงใด

ทั้งนี้ ภาพที่อัยการประจำกรมรายนี้ ระบุว่า แกนนำพันธมิตรฯ ยืนอยู่หน้าฉากที่มีการทาสีเป็นรูปธงชาติแนวตั้ง อยู่บนเวที น่าจะหมายถึงภาพเหตุการณ์บนเวทีที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ถ่ายรูปร่วมกับพันธมิตรฯ ในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการนำภาพมาเปิดเผยแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เองก็นั่งอยู่หน้าธงชาติที่มีการเขียนข้อความว่า “WELCOME THAKSIN” ในสนามของแมนเชสเตอร์ ซิตี ในวันต้อนรับการมาเยือนสนามของนายใหญ่เมื่อกลางเดิอนสิงหาคม 2550 ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานมานี้ และมีภาพดังกล่าวที่มีคนไทยและชาวต่างชาติถือธงชาติไทยที่มีข้อความดังกล่าว ลงตีพิมพ์ในนิตยสารของสโมสรอย่างชัดเจน

ก่อนหน้านี้คดีต่างๆ ของระบอบทักษิณ เช่น คดีกล้ายาง คดีหวยบนดิน ฯลฯ ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา สั่งฟ้อง ถูกอัยการส่งกลับให้ คตส.สอบสวนเพิ่ม และไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้ จน คตส.ต้องส่งยื่นฟ้องเอง ตามช่องทางที่กฎหมายให้อำนาจ คตส. ไว้

นอกจากนั้น ภายหลังจากที่ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา เรื่อง “ไม่มีใครสั่งผมได้” ในวันที่ 8 พฤษภาคม ได้มีบทความของนายจักรวาล กาญธีรานนท์ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง “ผู้มีอำนาจฟ้องอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา พร้อมส่งสำเนาบทความดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นอยู่ในช่วงที่ศาลกำลังจะมีคำสั่งรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องในบางคดีที่ คตส.ยื่นฟ้อง ซึ่งการให้ความเห็นในข้อกฎหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะก่อให้เกิดความสับสนกับผู้ที่ติดตามข่าวสารและกำลังรอฟังการพิจารณาคดีของศาล โดยปราศจากสิ่งอันพึงชี้นำก่อนที่ศาลจะมีคำสั่ง ดังนั้น คตส. จึงได้ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อโปรดพิจารณาตามที่เห็นสมควร เพื่อรักษาและคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีของศาลให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมายต่อไป
ภาพจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ที่ระบุว่า ตีพิมพ์ในนิตยสารของสโมสร


(3 ภาพข้างบน) ภาพต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2550 ในภาพมีรูปลูกทั้ง 3 คน รวมไปถึง นายไอยคุปต์ กฤตบุญญาลัย (น้ำนิ่ง) และ น.ส.ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา (ลีเดีย) นั่งและยืนกันอยู่หน้าบริเวณที่มีการแขวนธงที่มีคำว่า WELCOME โผล่ขึ้นมาให้เห็นด้วย
ภาพวาดธงชาติไทยกับแกนนำพันธมิตรที่วอชิงตันดีซี ซึ่งอัยการกล่าวถึงในบทความ
กำลังโหลดความคิดเห็น