ฝ่ายค้านจ้องยื่นถอดถอน “สมพงษ์” ระบุ ทำผิดกฎหมายฐานเสนอชื่อแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ท.เกินกว่ากฎหมายกำหนด ขณะเดียวกัน ยังพบพิรุธแก้ไขตัวเลขวันที่เพื่อให้ทันกำหนดเวลา 60 วัน โดยเล็งยื่นดำเนินคดีอาญาควบคู่ไปด้วย
วันนี้ (9 พ.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงถึงกรณีที่สภาให้ความเห็นชอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่า เป็นการยื่นรายชื่อ คณะกรรมการ ป.ป.ท.ให้สภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยมีสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจไม่ร่วมลงมติเห็นด้วยกับการลงมติในสภา เพราะเห็นว่ามติดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย เพราะการดำเนินการของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ต้องมีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายและมีความรับผิดชอบที่ต้องสรรหา คณะกรรมการ ป.ป.ท.ให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสมพงษ์ ไม่ได้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการให้แล้วเสร็จ ทั้งที่นายสมพงษ์ ทราบตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่ามีเงื่อนไขของกฎหมายบังคับอยู่ พรรคฝ่ายค้านจึงมีความเห็นว่า เข้าข่ายใช้อำนาจหน้าที่กระทำการจงใจขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จึงได้ซักถามรายละเอียดในที่ประชุมสภา และเข้าใจว่า กระทรวงยุติธรรมจะขอถอนเรื่องนี้ออกจากระเบียบวาระ แต่รัฐมนตรียุติธรรมยังยืนยันที่จะให้สภาร่วมลงมติ เราจึงพิจารณากรณีดังกล่าว ว่า พรรคฝ่ายค้านจะดำเนินการถอดถอนนายสมพงษ์หรือไม่ แต่เมื่อวานนี้มีกรณีข้อพิรุธเกิดขึ้นใหม่ จึงต้องตรวจสอบเอกสารบางเรื่องเพิ่มเติม
“ข้อพิรุธคือ เดิมที นายสมพงษ์ ได้ชี้แจงสภาในวันพุธ ว่า ได้รับเรื่องจากปลัดกระทรวงยุติธรรมในวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 60 วันพอดี แต่เมื่อวานกลับมาชี้แจงว่า เป็นวันที่ 28 มีนาคม เมื่อผู้นำฝ่ายค้านขอหนังสือจาก นายสมพงษ์ ซึ่งได้ยื่นหนังสือให้กับนายอภิสิทธิ์ ด้วยตัวเอง แต่หนังสือฉบับดังกล่าว กลับเป็นหนังสือที่ลงวันที่ 25 มีนาคม ข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ สันนิษฐานได้ 2 ประการ คือ 1.มีการเปลี่ยนแปลงหนังสือในส่วนของกระทรวงยุติธรรมในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ 2.เป็นกรณีที่นายสมพงษ์เองไม่ได้ใส่ใจในการดำเนินการสรรหาคณะกรรมการ จนทำให้เหตุการณ์ล่วงเลยเวลาไปเกินกว่ากฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งวิปฝ่ายค้านได้หารือ มีความเห็นเบื้องต้นว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้ และนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมวิปฝ่ายค้านในวันอังคารหน้า ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจน ก็จะดำเนินการลงมติยื่นถอดถอน นายสมพงษ์ และกำหนดเวลาว่าจะยื่นเมื่อใด” นายสาทิตย์ กล่าว
นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่า การลงติของสภาเมื่อวานนี้เป็นมติที่มีปัญหา และน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อดูคะแนนการลงมติของสภาฯ จะเห็นชัดว่า คะแนนของผู้ที่ได้รับการเห็นชอบ ไม่มีท่านใดที่มีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา คือ 240 เสียง แต่ แต่ละท่านได้คะแนนเสียงไม่เกิน 200 เสียงทั้ง 6 ท่าน มติดังกล่าวน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่า มีคะแนนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ บังคับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคพลังประชาชนได้ประกาศมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญบางส่วนมีการลงคะแนนไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่กรณีการลงมติให้ความเห็นชอบ ป.ป.ท. ส.ส.พลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลมีถึง 316 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง แต่กลับลงมติเห็นชอบแต่ละท่านไม่เกิน 200 เสียง
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้มีปัญหาจะเกิดขึ้นสองประการคือ 1.การลงมติดังกล่าวขัดต่อัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ประธานสภาวินิจฉัยและดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน 2.มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรครัฐบาลมีความจงใจที่จะทำให้ คณะกรรมการ ป.ป.ท.ความล่าช้าออกไปหรือไม่ เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องตรวจสอบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา กระบวนการป้องกันปราบปรามการทุจริตยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายค้านจะนำเข้าที่ประชุมวิปสัปดาห์หน้า และถ้านำมาประกอบเรื่องกันได้ อาจจะมีการดำเนินการมากกว่าถอดถอน ถ้าในกรณีที่เอกสารที่ส่งให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นเอกสารที่ปลอมแปลง กรณีเช่นนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา และในกรณีลงคะแนนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งก็จะเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการต่อ ซึ่งต้องรอการวินิจฉัยของประธานสภาว่าจะดำเนินการอย่างไร