ปชป.หอบข้อมูลยื่น “จารุวรรณ” สอบสัมปทาน “เอ็นบีที” ฮั้วประมูลดิจิตอล มีเดีย ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ต่อปีนับ 1,000 ล้านบาท พร้อมจี้สอบ “เจ๊เพ็ญ” กระแดะส่งถอดรายการ “เจิมศักดิ์” เข้าข่ายละเมิดสื่อตาม รธน.
วันนี้ (29 เม.ย.) ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานประธานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.เพื่อขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการทำสัญญาของสถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียงแห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ หรือ เอ็นบีที โดยมี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง.ในฐานะปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการ สตง.มารับหนังสือแทน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า การทำสัญญาสัมปทานระหว่าง เอ็นบีที กับ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์ จำกัด เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2551 เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว เนื่องจากที่ผ่านมาช่อง 11 เคยมีบริษัทเข้าร่วมผลิตรายการข่าวกว่า 8-9 บริษัท แต่สัญญาการผลิตรายการข่าวประจำวันครั้งนี้ ปรากฏข้อพิรุธในการดำเนินการจัดหาผู้ผลิต ที่ไม่มีการเปิดกว้าง ให้ผู้ผลิตรายอื่นได้เข้าร่วมเสนอรายการ โดยพบว่า มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่เข้าร่วมเสนอรายการ ทั้งยังพบว่า 2 บริษัทมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากมีสถานที่ตั้งอยู่ที่เดียวกันคือ เลขที่ 731 ถนนอโศกดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ต่อมาบริษัท ดิจิตอลฯ ได้รับการคัดเลือก ปรากฏว่า ทั้ง 2 บริษัทใช้พนักงานรับโทรศัพท์ พนักงานขายโฆษณาและเบอร์โทรศัพท์สำนักงานเดียวกัน
“ในการทำสัญญาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เนื่องจากทำให้รัฐเสียเปรียบเพราะตลอดอายุสัญญา 2 ปี ที่บริษัท ดิจิตอล มีเดีย สามารถจัดเก็บรายได้ในช่วงเวลา 9 โมงครึ่ง ในอัตรานาทีละ 50,000-120,000 บาท หากคำนวณเต็มเวลา พบว่า จะได้รายได้ถึงปีละ 1,500 ล้านบาท แต่ตามสัญญาที่ทำไว้กับ เอ็นบีที มีการจ่ายค่าตอบแทนปีละ 45 ล้านบาท ทั้งๆ ที่รัฐควรจะได้ปีละ 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทดังกล่าวสามารถใช้ห้องออกอากาศ เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับถ่ายทอดและการผลิตข่าวและรายการข่าวโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และค่าเสื่อมราคาแต่อย่างใด ที่สำคัญการทำสัญญาดังกล่าวไม่มีหนังสือรับรองค้ำประกันความเสี่ยง และไม่มีการจัดทำทีโออาร์ ด้วย” นายอลงกรณ์ ระบุ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบยังพบว่าการกระทำของ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล เอ็นบีที ยังเข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีสั่งงดออกอากาศรายการ “มุมมอง” ของ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.ทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ รวมถึงการเข้าไปต่อรองวิทยุชุมชนในการออกอากาศ ที่อาจจะเป็นการแทรกแซง ซึ่งเข้าข่ายความผิดละเมิดสิทธิของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องการให้ สตง.ได้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อไป ประธานคณะกรรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้คณะกรรมการได้เชิญ นายปราโมทย์ รัฐวินิจ อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับ คณะกรรมการด้วย ขณะที่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สตง.จะรับหนังสือดังกล่าวไว้ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของ สตง.ต่อไปในการรักษางบประมาณของแผ่นดิน และจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ด้าน นายจักรภพ กล่าวกรณีเดียวกันว่า พร้อมให้ สตง.ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการเข้าไปบริหารงานใน NBT ที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนองานต่อหน่วยงานรัฐปี 2542 ว่า ให้รีบส่ง เพราะ NBT จะได้สดใสสะอาด จากฝีมือของฝ่ายค้าน ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเป็นอย่างยิ่ง ขอให้รีบส่ง รีบจัดการ และขอให้รีบสื่อสารกับสาธารณชน สถานี NBT ดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ โปร่งใสทุกขั้นตอน เรื่องนี้ตนยืนยันได้ในฐานะที่กำกับดูแล และพร้อมรับการตรวจสอบเต็มที่