“หมัก” ฟุ้งความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ 125 ปี ขุดรากประวัติศาสตร์โม้เปิดทางนักลงทุน พร้อมลดภาษี แก้กฎหมายกวาดบ้านต้อนรับ แจงบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติแล้ว “ก้าวถอยหลังเพื่อกระโดดไปข้างหน้า” เชื่อ จีดีพีพุ่งถึงร้อยละ 6.5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปฏิเสธที่จะบอกเมนูอาหารที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีพม่ารับประทาน พร้อมกล่าวว่า “เป็นความลับ” ก่อนเป็นประธานเปิดการประชุมสุดยอดภาคธุรกิจประสบการณ์ความสำเร็จของความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ใจความว่า ตนเชื่อมั่นว่า การหารือในวันนี้จะประสบความสำเร็จและส่งผลให้ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ จะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในโอกาสที่เป็นปีครบรอบ 175 ปีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ และในปีนี้ไทยได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมัน แบะราคาอาหารสูง และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้งค่าจ้างแรงงานในจีน เวียดนาม และอินเดียก็สูงขึ้นด้วย
นายสมัคร กล่าวด้วยว่า การดำเนินการของไทยเพื่อต่อสู้กับกระแสการถดถอยของเศรษฐกิจโลก เราจะผลักดันการลงทุนสร้างระบบรถไฟรางคู่ เพื่อเชื่อมต่อเมืองสำคัญกับท่าเรือและแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและปรับปรุงระบบอุปทานเพื่อสนับสนุนการลงทุน อันจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอันดับต้นๆ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศลดภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โครงการ SML สำหรับหมู่บ้านขนาดต่างๆ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้ของเกษตรกร โดยตระหนักว่าความท้าทายในเรื่องการขาดแคลนอาหารเป็นปัญหาสำคัญและถือเป็นวาระแห่งชาติ
“ผมขอแจ้งข่าวดีให้ทราบว่า เราได้ผ่อนกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ และเจ้าของกิจการด้านการเงินให้เช่า การรับจ้างผลิตทั่วไป นายหน้า นอกจากนั้นธุรกิจโฆษณา โรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์ คลังสินค้าและธุรกิจบันเทิงจะรับประโยชน์จากการแก้กฎระเบียบเหล่านี้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจริงใจที่จะเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย จะคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตราร้อยละ 5 แต่เราเชื่อมั่นว่า จะสูงขึ้นถึงร้อยละ 6.5 ยังคงเป็นสัญญาณเชิงบวกสามารถควยคุมได้ อีกทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง สามารถดำเนินการลดภาษีได้ ส่วนเรื่องปัญหาหนี้เสียและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำสามารถจัดการได้ เราได้ปัดกวาดบ้านของเราให้สะอาดพร้อมต้อนรับแขกแล้ว” นายสมัคร กล่าว
นายสมัคร กล่าวอีกว่า ปีที่แล้วการลงทุนในภาคธุรกิจโตเพียงร้อยละ 0.5 เนื่องจากสภาพทางการเมือง หวังว่า การลงทุนจากสหรัฐฯจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจไทย แต่ไทยและอาเซียนยังคงมีพลวัตรแม้จะประสบปัญหาบ้างแต่ก็สามารถกลับสู่ภาวะปกติ ถือเป็นการพิสูจน์แล้วว่า การก้าวถอยหลังเพียงเล็กน้อยบ่อยครั้งก็นำไปสู่การก้าวกระโดดไปข้างหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมัคร ยังคงกล่าวถึงโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส ว่า ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น การสร้างถนนเพื่อเชื่อมโยงเส้นทาง การขยายเครือข่ายด้านการสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงการขยายขอบเขตด้านการค้า และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องการความร่วมมือจากนานาประเทศ
เมื่อเดือนที่แล้วได้เข้าร่วมการประชุม GMS ที่ลาว ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการวางแผนเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางระหว่างภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและการเรียนรู้ของภูมิภาค โดยเน้นเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่นสถาบันแม่โขง (MI) ในจังหวัดขอนแก่น และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
นายสมัคร กล่าวถึงความร่วมมือในกลุ่มอาเซียน ว่า อาเซียน ได้พยายามสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้น และไทยในฐานะประธาน อาเซียนจะทำข้อตกลงความร่วมมือกับประเทศคู่พันธมิตรให้มากขึ้น ความร่วมมือจากสหรัฐฯจะช่วยให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือจากต่างประเทศจะช่วยแก้ไขปัญหาในพม่า การพัฒนาทางด้านการค้าและเศรษฐกิจจะช่วยเปลี่ยนแปลงให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น ธุรกิจอเมริกันสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าให้อาเซียน และความก้าวหน้าจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจของสหรัฐฯเช่นเดียวกัน
นายสมัคร ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างไทย-สหรัฐฯ ว่า ตั้งแต่ชาวอเมริกันได้เดินเรือมายังประเทศไทยเมื่อปี 1821 การทำธุรกิจและการค้าก็ได้เริ่มขึ้น อาจกล่าวได้ว่า สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 1833 (The Treaty of Amity and Commerce) และความสัมพันธ์ทางการเมืองได้สร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสองประเทศ มิตรภาพระหว่างไทย-สหรัฐฯได้สร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่ง สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย การป้องกันการก่อการร้าย การขาดแคลนพลังงาน การลักลอบค้ายาเสพติดและมนุษย์
“ไทยยังคงให้ความสนใจในการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาค สหรัฐฯเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และบ่อยครั้งที่เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศไทยเช่นกัน” นายสมัคร กล่าว
นายสมัคร กล่าวว่า ธุรกิจของสหรัฐฯ เป็นผู้อุปถัมป์ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์จากการคงไว้ซึ่งระดับ การติดต่อและปฏิสัมพันธ์นี้ เมื่อถามว่าเพื่อนชาวอเมริกันจะสามารถช่วยเหลือประเทศไทยได้อย่างไร อาจกล่าวได้ว่า นอกจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เหมาะแก่การค้าและการลงทุนแล้ว ประเทศไทยยังมีความประสงค์ให้สหรัฐฯ คงไว้ซึ่งระดับการมีปฏิสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและมองประเทศไทยว่าเป็นสะพานและช่องทางที่จะเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายสมัคร กล่าวถึงมุมมองในเชิงบวกต่ออาเซียนภายใต้บทบาทการเป็นประธานของประเทศไทย ว่า จะสร้างสรรค์วิถีทางของอาเซียนเพื่อให้ทุกประเทศได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างประโยชน์ของการร่วมมือระหว่างสหรัฐฯและอาเซียน เชื่อว่า รัฐบาลและธุรกิจกำลังมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเผชิญความท้าทายและร่วมมือกันเพื่อจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี ไทยและสหรัฐฯ ได้เป็นมิตรต่อกันมาเกือบ 2 ศตวรรษ และความสัมพันธ์ดังกล่าวจะแน่นแฟ้นขึ้นในโอกาสต่อไป