จากอดีตแกนนำ นปก.ที่พาคนป่วนหน้าบ้านป๋าเปรมเมื่อปีที่แล้ว มาวันนี้ “ทั่นรองโฆษกฯ บำเหน็จ” ออกโรงเรียกร้อง “พันธมิตรฯ-ม็อบต้าน” อย่าสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่ความรุนแรง หลังม็อบถ่อยฮือขว้างปาข้าวของหมายทำร้ายประชาชนที่มาร่วมงานสัมมนาพันธมิตรฯ วานนี้ ยังไม่วาย เหน็บพันธมิตรฯ ให้ปรับวิธีเคลื่อนไหวใหม่
วันนี้ (26 เม.ย.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกรัฐบาลและอดีตแกนนำนปก. กล่าวถึงกรณีที่ม็อบต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อเหตุปะทะกับผู้ที่มาร่วมงานสัมมนาของพันธมิตรฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) ว่า เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยมาโดยตลอดว่าเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งนำไปสู่การเผชิญหน้าที่บานปลาย ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องดำเนินการตามกฎหมายจับกุมผู้ที่ทำผิดอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่มต่อต้าน เนื่องจากไม่ว่าใครก็ไม่สามารถละเมิดสิทธิและกฎหมายได้ ทั้งนี้ หากใช้หลักกฎหมายแล้วเชื่อว่าจะสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ ขณะเดียวกันต้องสรุปบทเรียนสถานการณ์ความขัดแย้ง 2 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกกดดันและอึดอัดของประชาชน
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายต้องอย่าสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกาย และจิตใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แล้วยังสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่อยู่ในสังคมด้วย ขณะเดียวกันตนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ก็ควบคุมเหตุการณ์ได้อย่างดีที่สุดแล้ว เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมีหลายปัจจัยที่กดดันความรู้สึกของผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งสภาพดินฟ้าอากาศทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงานได้ยาก อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้เพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้นเพื่อลดเหตุการณ์ที่จะลุกลามบานปลาย
“ใจจริงผมอยากเรียกร้องให้ทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน ศึกษาบทเรียนที่แสดงออกมาเพราะขณะนี้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้วว่า สังคมไม่สามารถรองรับความขัดแย้งของกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้ และตระหนักถึงสัญญาณที่บ่งบอกถึงความกดดัน ดังนั้น เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตอนนี้อยากให้หยุดใช้สติทบทวนเรื่องที่ผ่านมา และควรหยุดระดมมวลชนออกมาแสดงพลัง” นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะชุมนุมอีกครั้งหลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา ก็น่าจะนำข้อคิดจากการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา มาสรุปประเมินผล เพราะการเคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องปลุกระดมมวลชน แต่มีวิธีอื่นที่สามารถทำได้อย่าง เช่น กลุ่มผู้คัดค้านการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกยังแสดงออกด้วยการนิ่งสงบ ดังนั้น พันธมิตรฯ จึงควรปรับวิธีการเคลื่อนไหวใหม่