xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เตือนหลุมพราง “พลังแม้ว” ชู รธน.40 บังหน้าหลอกต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เตือนอย่าตกหลุมพราง “พลังแม้ว” ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 บังหน้า ชี้เป้าหมายเพื่อช่วย “คนบางคน” ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่แค่เปลี่ยนวิธีการเพื่อลดแรงต่อต้านเท่านั้น

วันนี้ (23 เม.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคได้แสดงจุดยืนชัดเจนมาโดยลำดับ แต่ต้องยอมรับความจริงในแง่ของการใช้สื่อของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีโอกาสน้อยในการได้ชี้แจงผ่านรายการโทรทัศน์ของรัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้สื่อของรัฐทำงานโดยอิสระเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลอย่างรอบด้าน

“จุดยืนของเราได้พูดชัดว่าควรเริ่มต้นด้วยการศึกษาปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญเสียก่อน จากนั้นจึงกำหนดว่าจะนำไปสู่ประเด็นการแก้ไขอย่างไร แต่ขณะนี้ไม่มีการศึกษาปัญหา มีแต่ปัญหาส่วนตัวของคนบางคน และพรรคการเมืองบางพรรคแล้วไปสรุปว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการข้ามขั้นตอน” นายจุรินทร์ กล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ตั้งคนกลางขึ้นมาศึกษาปัญหารัฐธรรมนูญ อาจให้องค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น สถาบันพระปกเกล้า เป็นเจ้าภาพระดมความเห็นของทุกฝ่ายมาประมวล หลังจากนั้นจึงสรุปว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงการดำเนินการโดยรัฐสภาโดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

“ความจริงญัตติของรัฐบาลที่จะเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญก็มี แต่ดูเหมือนว่าจะโดนดองไว้ เพราะรัฐบาลมุ่งเป้าว่าไม่ต้องศึกษา ต้องการเร่งรัดเป็นหลัก การเร่งรัดนี้จึงนำมาซึ่งการต่อต้าน ส่วนความคิดที่จะแก้โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นตัวตั้ง และมองว่ารัฐบาลถอยแล้ว แต่ความจริงรัฐบาลไม่ได้ถอย อย่าไปตกหลุมพราง ตบตาประชาชน การเอารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นตัวตั้ง เป็นการเปลี่ยนวิธีการแต่เป้าหมายยังได้เหมือนเดิม เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่มีมาตรา 237 และ 309 เท่ากับความผิดคดียุบพรรคจะสามารถอาศัยช่องว่างตรงนี้หลบหนีไปได้” นายจุรินทร์ กล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ยังเป็นการถอยกลับไปใช้วิธีการสรรหาองค์กรอิสระแบบเก่าที่ตัวแทนพรรคการเมืองสามารถเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระได้ เมื่อยกเลิกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และลดวาระของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว ในที่สุดรัฐบาลร่วม 6 พรรคการเมืองจะใช้ 6 เสียงนี้ในการชี้เป็นชี้ตายว่าจะเอาใครมาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐบาลมีความต้องการใช้ช่องว่าเอาคนที่สั่งได้มาช่วยเหลือคดียุบพรรคและคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อแปลความผิดให้กลายเป็นถูก

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น