xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.แฉเล่ห์บันได 3 ขั้นถกหาช่องสกัด “รธน.แม้ว” สัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้ “พลังแม้ว” แก้รัฐธรรมนูญรื้อองค์กรอิสระเป็นแผนบันใด 3 ขั้น ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น เผยเตรียมหาช่องทางสกัดกั้นในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (19 เม.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็น กรณีที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดวาระการทำงานขององค์กรอิสระว่า เป็นการกระทำตามแผนบันได 3 ขั้นของรัฐบาล โดยบันไดขั้นแรก เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรค บันไดขั้นที่ 2 เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เรื่องบทเฉพาะกาล และบันไดขั้นที่ 3 คือ การลดวาระองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรอิสระครั้งนี้ ประเด็นใหญ่คือ มุ่งช่วยคดียุบพรรค และคดีทุจริต ที่อยู่ในการตรวจสอบของ คตส. ลดวาระการทำงานของ กกต. ขณะที่ ป.ป.ช.จะต้องรับช่วงคดีต่อจาก คตส.ที่จะหมดวาระในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งคดีส่วนใหญ่เป็นการตรวจสอบทุจริตของอดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการทำให้องค์กรอิสระใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ในโอวาท เพราะองค์กรอิสระที่มีอยู่นี้ไม่สามารถสั่งได้ หากเปลี่ยน ป.ป.ช.ชุดใหม่ อาจมีความหวังว่า ป.ป.ช.ชุดใหม่จะอยู่ในโอวาท และสามารถจะช่วยล้มคดีได้ ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญในส่วนขององค์กรอิสระครั้งนี้ ไม่สามารถมองเป็นอย่างอื่นได้ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีเหตุผลที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนการเสนอเพิ่มจำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากกลับไปใช้การสรรหากระบวนการองค์กรอิสระเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีจุดอ่อนที่เห็นได้ชัด คือ การให้ตัวแทนพรรคการเมือง เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ทำให้มีปัญหาเรื่องการรับใบสั่งให้เลือกกรรมการตามที่พรรคต้องการ ท้ายที่สุดองค์กรอิสระก็ถูกแทรกแซง ไม่มีความเป็นอิสระ และความเป็นกลาง ต้องตอบแทนบุญคุณพรรคการเมือง

“รัฐบาลอาจคิดว่า หากย้อนกลับไปใช้รูปแบบการเลือกองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 รัฐบาลมี 6 พรรคการเมือง ก็ถือว่ามี 6 เสียงแล้ว ดังนั้น ผมจึงอยากให้ประชาชนติดตามการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลครั้งนี้อย่างรู้เท่าทัน” นายจุรินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ยังตอบไม่ได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะเบื้องต้นมีกระแสออกมาต่อต้านเป็นจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรเสี่ยง หากจะแก้ไขแล้วทำให้เกิดปัญหา แต่ถ้ายังดึงดัน ทั้งที่รู้ว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกของคนในสังคม และทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤติอีกครั้ง รัฐบาลต้องร่วมรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ เพื่อผลประโยชน์ในอนาคต ไม่ใช่ช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่งในอดีต

ส่วนที่อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 ชี้ช่องว่า การกระทำของรัฐบาล อาจเข้าข่ายความผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.1 ใน 10 สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลได้ นายจุรินทร์ ยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยหารือถึงประเด็นดังกล่าว และเบื้องต้นเห็นว่าช่องทางนี้สามารถทำได้ แต่ต้องรอให้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพรรค ในสัปดาห์หน้าก่อน
/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น