xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิ” ชี้ชัดเงื่อนเวลาบีบ “แม้ว” จนตรอก-โหมบงการแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
“สนธิ” ชี้ชัดเงื่อนเวลาบีบรัด “ทักษิณ” โหมบงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้คดีความหลุดพ้นภายใน 4-6 เดือนนี้ ด้าน “สุริยะใส” ลั่นการเมืองข้างถนนเกิดแน่ หากรัฐบาลดื้อแพ่งไม่ทำประชามติก่อนแก้ รธน. ขณะที่ “พิชาย” ชำแหละประชาธิปไตย ฟันธงการเมืองไทยกำลังจมดิ่งสู่ “รัฐสภาเผด็จการ”

รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเปิดประเด็นซักถาม ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนยังยืนยันที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อพวกพ้องของตัวเอง ส่งผลให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศจัดชุมนุมใหญ่ รวมทั้งชมรม ส.ส.ร.50 มีมติเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับหลักนิติธรรม

โดย ดร.พิชาย กล่าวว่า ขณะนี้ถึงจุดแยกที่สำคัญของการเมืองไทย คือ ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งจะเน้นการเลือกตั้งเป็นใหญ่ โดยประชาชนจะมอบอำนาจให้กับ ส.ส. ทำให้ ส.ส.จะใช้อำนาจนั้นอย่างไรก็ได้ ขณะเดียวกันนักการเมืองก็จะมองประชาชนเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ รวมทั้งการละเลยการตรวจสอบ ซึ่งมีการพัฒนาเป็น 2 ทาง คือ เป็นระบบเผด็จการรัฐสภา โดยการลิดลอนสิทธิของประชาชน และจัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งแทรกแซงการตรวจสอบ สุดท้ายทำให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพา

“แต่ถ้าหากสังคมหันไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือ ประชาชนมอบภาระหน้าที่ให้กับ ส.ส.ไปทำ ทำให้ประชาชนมีสิทธิเข้าไปร่วมกระบวนการตรวจสอบ ส่งผลให้ ส.ส. และนักการเมือง ก็จะมีจิตสำนึกที่ดี และจะสร้างช่องทางในการมีส่วนร่วมในเรื่องของการตรวจสอบ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เขายังเข้าใจวิธีคิดแบบเก่า ว่าเขาจะใช้อำนาจอะไรก็ได้ โดยเหตุผลที่ต้องแก้ก็คือ 1.รัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร ก็ต้องแก้ 2.อยากแก้เพราะหนีการยุบพรรค 3. แก้เพราะนายสั่งมาให้แก้ คือ เจ้านายกลัวติดคุก และกลัวรักษาทรัพย์สินไว้ไม่ได้ และ 4.แก้เพราะคุมองค์กรอิสระไม่ได้”ดร.พิชาย กล่าว

ดร.พิชาย กล่าวอีกว่า ถ้าพูดถึงหลักการของความมีเหตุผล รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาได้ไม่เท่าไหร่ เหมือนกับเด็กเพิ่งเกิดได้ไม่นาน ก็จะฆ่าแล้วหรือ ส่วนเหตุผลที่ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ก็เพื่อต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อไป เพราะแน่นอนว่าเขาจะต้องจัดการกับมาตรา 309 ซึ่งเกี่ยวกับคดีต่างๆ จะทำให้กระบวนการยุติธรรมต้องยุติทันที และเป็นการทำลายระบบกฎหมาย และทำลายประชาธิปไตยโดยไม่เคารพเสียงของประชาชนทั้ง 14 ล้านเสียง ส่วนการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาใหม่นั้น นัยยะก็คือต้องแก้ทั้งฉบับ ซึ่งก็จะได้ร่างฉบับประชาชนขึ้นมา แต่มันช้า ไม่ทันการต่อคดีทั้งหลาย ดังนั้นจึงเหลือวิธีเดียว คือ ต้องแก้บางมาตราเท่านั้น ซึ่งก็มีคนรู้ทัน และจะนำไปสู่การคัดค้านของทุกกลุ่ม จนนำไปสู่การประท้วง แล้วไปสู่วิกฤติทางการเมือง โดยเขาตั้งใจที่จะเสี่ยง

ด้าน นายสุรชัย กล่าวว่า ถือว่าน่าเศร้าใจหากจะเอาข้ออ้างดังกล่าวมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขจะต้องขึ้นอยู่กับว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง เพราะผ่านมาเพียงไม่ถึงปี แล้วจะแก้ไขแล้วหรือ อีกทั้งจะต้องประกอบไปด้วยเหตุ และผล ซึ่งจะต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตราไหนบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่เอื้อประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และประชาชนอย่างไร ซึ่งถ้าตอบพี่น้องประชาชนได้ เขาเหล่านั้นอาจจะสนับสนุนด้วยซ้ำ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงควรที่จะทบทวนใหม่ เพราะจะต้องยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก

“ตอนที่เราร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เราคิดถึงเรื่องของการมีเจ้าภาพในการตรวจสอบติดตามการใช้รัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น มีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น เรื่องการกำหนดให้มีองค์กรอิสระในการที่จะเข้าไปคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้ออกกฎหมายเข้ามาดูแลเรื่องนี้เลย ซึ่งในที่สุดไปลงเอยที่ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามตรวจสอบ ประเมินผล การบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถามว่าหากรัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหา และควรแก้ไขอย่างไร ตรงนี้ก็มีผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่อยู่แล้ว ซึ่งกลไกตรงนี้สามารถตอบาสังคมได้ และช่วยผลักดันประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม”นายสุรชัย กล่าว

ขณะที่ นายสุริยะใส กล่าวถึงเหตุผลที่กลุ่มพันธมิตรฯ คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ หากไม่ทำประชามติเสียก่อนว่า เรายกเริ่มประชามติมาเป็นเงื่อนไขสำคัญนั้น เนื่องจากขั้นตอนสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาจากการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งไม่ควรจะเลยเถิดไปถึงขั้นเป็นมรดกของเผด็จการ เพราะก็จะย้อนไปได้หมดว่า ส.ส.ในขณะนี้ ก็มาจากท่ออำนาจเดียวกันคือ คมช. ดังนั้นเราจึงต้องควรที่จะกลับไปถามประชาชน ส่วนที่บอกว่า ส.ส.มาจากการเลือกตั้งนั้น ถือว่าเป็นการบิดเบือน จึงไม่ต้องถามประชาชน ซึ่งถือเป็นการฉุดรั้งพัฒนาการบ้านเรา ไว้ที่ประชาธิปไตยตัวแทน

“จุดยืนพันธมิตรฯ ยังยืนยันว่า การกลับไปถามประชาชนด้วยกระบวนการทำประชามตินั้น นอกจากเหตุผลเรื่องการกลับไปถามเจ้าของอำนาจโดยตรงแล้ว ยังยกฐานะของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นจึงต้องยกเป็นวาระประชาชน อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้ออ่อน แต่ความชอบธรรมในขณะนี้ ทำไมรัฐบาลต้องเอาประเด็นร้อนยัดเข้ามาในขณะนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเหตุผลอื่น ซึ่งอดีต ส.ส.ร.ก็บอกว่าควรหยุดเรื่องนี้ โดยต้องให้เรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จบเสียก่อน”นายสุริยะใส กล่าว

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ขณะนี้ควรใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน โดยระหว่างใช้ รัฐสภาสามารถตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านบวกด้านลบ แล้วรายงานต่อสังคม ซึ่งก็จะง่านขึ้นถ้าทำให้เป็นวาระประชาชน ซึ่งรัฐบาลเคยหาเสียงกับประชาชนเอาไว้แต่ไม่ทำ เช่น จะยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือแม้แต่การที่บอกว่าจะเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งมาจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่เห็นทำอะไรเลย และถ้าเหตุการณ์ยังเป็นอย่างนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเมืองบนท้องถนนอีกครั้ง แล้วพรรคพลังประชาชนพร้อมที่จะรับผิดชอบหรือไม่ 10 ปีที่เราถกเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น แต่ปัญหาทั้งหมดกลับไปอยู่นอกรัฐธรรมนูญ

ต่อมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้ต่อสายโทรศัพท์เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ทุกวันนี้เรามองการเมืองแบบในอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เช่น ทุกคนยอมรับว่า ส.ส.ทุกคนซื้อเสียงเข้ามา ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตก แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันก็คือ เงื่อนเวลา เพราะทุกอย่างทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียวเท่านั้น เนื่องจากเวลาไม่เหลือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดีส่วนตัว หรือเรื่องการยุบพรรค ต้องเข้าใจว่ากฎหมายมาตรา 237 โยงกับ 309 แต่กุญแจอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีเงินมีทอง รอให้หลุดจากคดีเสียก่อน ก็สามารถใช้เครือข่ายตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาได้

“ปัญหาก็คือ ถ้าเกิดมีการตัดสินกฎหมายมาตรา 237 ก่อนมาตรา 309 พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะหลุดจากอำนาจ ก็ทำให้ความไม่นอนในตัวคดีความยิ่งมากขึ้น ดังนั้นเราควรมาดูกันว่าในวันที่ 2 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่ศาลจะตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช โดยคาดว่าน่าสืบพยานกันทั้งเดือนจนไปถึงเดือน ก.ค.จึงจะตัดสิน แล้วโยนกลับไปที่ กกต. และเมื่อ กกต.ทำไปสักพัก ก็จะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญประมาณเดือน ส.ค. ซึ่งใน 4 ถึง 6 เดือนนี้ อยู่ในช่วงความเป็นความตายของพรรคพลังประชาชน และถ้าหากไปมองคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มนัดแรก คือ ตรวจสอบพยานหลักฐาน ซึ่งคดีดังกล่าวตั้งไว้อีกประมาณ 4 ถึง 5 เดือน ฉะนั้นระยะเวลานี้จึงเป็นเงื่อนตายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจะเอาอย่างไร คือ ถ้าสั่งให้แก้แบบหักดิบ เขาก็จะแก้อย่างหักดิบ จึงไม่ต้องมองไปไกล มองแค่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้นก็พอ”นายสนธิ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น