“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ต้อนรับ “คำนูณ” คืนสู่จอ แฉความผิดปกติ “เพ็ญทีวี” โหมข่าว “เลือกตั้งเนปาล” ประกอบข้อเขียน “กาหลิบ” และ “จักรภพ เพ็ญแข” กระตุกสำนึก “สมัคร” คนมีเลือดสีน้ำเงินจะกลับเป็นตัวของตัวเอง หรือยอมเป็นนายกฯ ต่อไปจนเกิดความสูญเสียใหญ่หลวง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย คำนูณ สิทธิสมาน, จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย คำนูณ สิทธิสมาน, จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ช่วงที่ 2
รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 21 เมษายน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภ า(ส.ว.) ระบบสรรหา และนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ร่วมดำเนินรายการ โดยในช่วงแรกนายคำนูณได้กล่าวถึงบทความเรื่อง “ NBT กับข่าวเจาะ เนปาลเปลี่ยนระบบกษัตริย์” ที่เขาเขียนและตีพิมพ์ใน “ผู้จัดการรายวัน” และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์(www.manager.co.th)ว่า เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตถึงการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ NBT จากหลายคนทั้ง นายชลิต แก้วจินดา ส.ว.สรรหา และนายสุรวิชช์ วีรวรรณ ว่า NBT เจตนาให้ความสำคัญกับข่าวเลือกตั้งเนปาลเป็นพิเศษ เพราะโดยปกติข่าวต่างประเทศทั่วไปจะมีผู้ประกาศมาอ่านข่าวตามสคริปต์ปกติเท่านั้น แต่กับข่าวนี้ช่วงก่อนเข้าข่าว NBT จะมี “อินเตอร์ลูด” นำ ซึ่งหมายถึงการทำเป็นรูปกราฟฟิคและมี “จิงเกิ้ล” โดยมีตัวหนังสือเขียนว่า “จับตาการเลือกตั้งเนปาล” โดยในเนื้อหาข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชี้ชะตาราชวงศ์เนปาล และบอกว่า แนวโน้มการเลือกตั้งนี้พรรคนิยมลัทธิเหมาจะเป็นฝ่ายชนะ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเขียนของ “ไฟเย็น” ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ที่ตีพิมพ์ในวันที่ 22 เม.ย.2551 ถึงการเสนอข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งเนปาลของ NBT ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อเขียนของคนที่ใช้นามปากกาว่า “กาหลิบ” ในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ เขียนถึงนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้บริหารบริษัท แปซิฟิก ในเชิงลบ และบอกว่าภารกิจของนายปีย์นั้นต้องการทำให้แน่ใจว่าความเป็นประชาธิปไตยจะไม่มากเกินจนกระทบต่อโครงสร้างเดิมของประเทศ คล้ายกับภารกิจของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในการทำทุกอย่างให้แน่ใจว่าบ้านเมืองตั้งอยู่ใน 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ นายคำนูณ กล่าวว่า นายปีย์นั้นเคยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปถึงนายประมวล รุจนเสรี (หัวหน้าพรรคประชามติ) แต่จะไม่ขอพูดในที่นี้ว่าเรื่องอะไร
นายคำนูณ กล่าวว่า “กาหลิบ” นั้นอาจเป็นคนเดียวกับที่เคยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ในระยะหนึ่ง และอาจเป็นคนเดียวกันกับคนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนี้
ขณะเดียวกัน ความบังเอิญก็ปรากฏอีกครั้ง เมื่อมีผู้ที่ใช้ชื่อ “จักรภพ เพ็ญแข” เขียนใน นสพ.ประชาทรรศน์รายสัปดาห์ เรื่องรับเสด็จเจ้าบาห์เรน โดยเนื้อหาอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบาห์เรน อีกทั้งระบุว่านายกรัฐมนตรีบาห์เรนรักเมืองไทยอย่างยิ่ง ในวันนั้นก็ทรงแสดงออกในความรักเรื่องนี้ด้วยการแสดงความยินดีที่เมืองไทยกลับสู่ประชาธิปไตย และคุยต่อถึงความผูกพัน พ.ต.ท.ทักษิณ อันเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศขยายตัวอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ในตอนท้ายยังระบุว่า ขณะที่เจ้าบาห์เรนที่เป็นศักดินาอยู่ด้วยองค์เอง ยังรู้ว่าถ้าต้องการจะร่วมมือทำประโยชน์จริงจังสมควรจะมีปฏิสันถารกับใครในเมืองไทย มันบังเอิญหรือไม่
นายคำนูณ กล่าวว่า ข้อสังเกตเหล่านี้จะตั้งเป็นข้อกล่าวหาใครแบบเป๊ะๆ คงไม่ได้ แต่นี่เป็นความรู้สึกที่ผิดปกติไปแล้ว จากการประมวลข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งคนที่ไม่ได้กินแกลบย่อมจะรู้
**กระตุกสำนึก “หมัก-เลือดสำน้ำเงิน”
นายคำนูณ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้พบปะกับอดีตเพื่อนร่วมงานรุ่นน้อง ที่ไปเป็นกำลังหลักให้กับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยบังเอิญ ซึ่งอดีตเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวได้พูดกับตนว่า “ตอนปฏิวัติ 19 กันยา พวกพี่ชนะ แต่ผมก็รู้ว่าเป็นชัยชนะชั่วคราว วันนี้พวกผมชนะ แต่ผมก็ห่วงอยู่ว่า จะเป็นชัยชนะชั่วครู่” ซึ่งคล้ายกับว่า การที่พรรคไทยรักไทย ในชื่อใหม่ พลังประชาชนกลับมาชนะคราวนี้ ถ้าทำอีกอย่าง ก็จะอยู่ยาว นั่นคือ การหานายกฯ ดีๆ หน่อย จัด ครม.ให้น่าดูกว่านี้ จะโยกย้ายข้าราชการก็อย่าให้เกิดภาพของการล้างแค้นหรือเช็กบิลให้เห็น จุดแข็งของตัวเองที่มีคนเก่งเศรษฐกิจมากมาย ก็เอามาทำงาน
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า แต่มองอีกทาง เมื่อเขาเลือกใช้หมากตัวใด ก็ย่อมจะมีผลข้างเคียงตามมา คนที่เชิญนายสมัครมานั้น เห็นข้อดีของนายสมัครคือเป็นคนเลือดสีน้ำเงิน มีความจงรักภักดี เป็นลูกขุนนาง มีความเป็นไทย ที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความหลังฝังใจที่เป็นปฏิปักษ์กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอย่างลึกซึ้งเช่นกัน การเชิญนายสมัครมาจึงมีข้อดีในการช่วยลบภาพที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี ขณะเดียวกันก็ได้คนที่จะมาทิ่มแทง พล.อ.เปรมที่เขาเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยาฯ และทำลายเขาทางการเมืองมาตลอด
เมื่อเขาเลือกใช้หมากนี้ ผลดีมี แต่ผลข้างเคียงก็มหาศาล เพราะนายสมัครเป็นตัวของตัวเอง และขัดแย้งกันในทีหลายครั้ง ซึ่งเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วนายสมัครต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตในช่วงนี้และต่อๆไปว่าจะทำอย่างไร จะเป็นนายกฯ โดยยอมสุญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปเรื่อยๆ หรือจะกลับมาใช้ชีวิตของตัวเองในช่วงสุดท้ายที่เหลืออยู่ ให้ประจักษ์ในแผ่นดิน ซึ่งความผิดพลาดในครั้งนี้ ไม่รู้จะมีเวลาแก้ตัวหรือเปล่า
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เคยคุยกับนายสมัครในการสัมภาษณ์เมื่อนานมาแล้ว และเคยบอกให้เลิกพูดเรื่อง 6 ตุลา นายสมัครก็ยอมรับว่าจะเลิกพูด นอกจากนั้นนายสมัครยังบอกว่า ตอนที่รับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ก็เพราะมีความรู้สึกว่า ตอนนั้นอายุยังไม่มาก อยู่ดีๆ มีคนมาเชิญเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตนเป็นนักการเมือง ใครจะไม่เอา แต่ผลของการตัดสินใจครั้งนั้น นายสมัครก็ถูกด่ามาตลอด 20 ปีว่าเข้าร่วมกับทหาร
สำหรับในบั้นปลายชีวิตทางการเมืองของนายสมัครนั้น ก่อนหน้านี้โอกาสดีที่สุดคือได้เป็น ส.ว.แต่อยู่ดีๆ ก็มีคนเชิญเป็นนายกฯ เป็นโอกาสสุดท้ายของชีวิต เชื่อว่านายสมัครอาจใช้วิธีคิดแบบปี 2519 คือ เมื่อมีคนมายื่นโอกาส ให้ใครจะไม่เอา แต่ทุกอย่างก็มีราคาที่ต้องจ่าย ในปี 2519 นั้น ทำให้สมัครกลายเป็นนักการเมืองที่ร่วมกับเผด็จการ ส่วนราคาที่ต้องจ่ายครั้งนี้กับการเป็นนายกฯ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรนั้น สิ่งที่เสียไปนั้นจะยิ่งใหญ่มหาศาลกว่า
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า อยากเตือนให้นายสมัครเป็นตัวของตัวเอง สิ่งที่ตนพูดไปนั้นไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่ในความเป็นคนที่มีเลือดสีนำเงิน อยากให้นายสมัครได้ไตร่ตรองดู เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เรื่องโคมลอยที่เอามาโจมตีกันทางการเมือง แต่มีความจริงปะปนอยู่จำนวนมาก
**ย้ำรัฐบาลหุ่นเชิดต้นตอพันธมิตรฯ เคลื่อน
ต่อมา นายคำนูณ กล่าวถึงการจัดงานสัมมนาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 25 เม.ย.นี้ว่า ถ้ารัฐบาลหรือพรรคพลังประชาชนไม่แตะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีการย้ายข้าราชการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น กระแสพันธมิตรฯจะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลายสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ใช่สิ่งที่ได้พูดไว้ก่อนหน้านั้น นายสมัครก็เคยพูดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหมดวาระ 3 เดือน แล้วก็ยอมรับว่าเคยพูดอย่างนั้น แต่ต้องรีบแก้ไขเพราะมีเรื่องยุบพรรค
ทั้งนี้ การออกมาจัดกิจกรรมที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ก็ดี หรือที่ไหนก็ดี ไม่ใช่เรื่องสนุก แต่อะไรที่จูงใจให้คนออกมา ก็ให้รัฐบาลหันกลับไปดูตัวเอง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลต้องดูว่าเงื่อนไข 5 ข้อที่เคยเสนอไว้นั้น พรรคแกนนำรัฐบาลได้ปฏิบัติตามหรือไม่