“สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” อ้างดื้อๆ ปฏิวัติ 19 ก.ย.ทำให้ประมวลจริยธรรม ส.ส.ถูกยกเลิก จึงไม่มีข้อบังคับเอาผิด ส.ส.ก่อเหตุทะเลาะวิวาทในสภา
วันนี้ (3 เม.ย.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่าง นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคพลังประชาชน และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ว่า เดิมสภามีข้อบังคับประมวลจริยธรรมของ ส.ส.แต่การปฏิวัติที่ผ่านมาทำให้ประมวลจริยธรรมถูกยกเลิกไป ขณะนี้กำลังร่างกันใหม่ ในช่วงนี้จึงไม่มีข้อบังคับที่จะใช้บังคับสมาชิกได้ แต่ทาง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงแล้ว และคู่กรณีได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้คณะกรรมาธิการที่กำลังร่างประมวลจริยธรรมได้กำหนดโทษในกรณีดังกล่าวให้ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อไม่มีข้อบังคับแสดงว่า ไม่สามารถเอาผิดผู้ก่อเหตุได้ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องรอผลสอบจากคณะกรรมการสอบก่อน แต่เมื่อไม่มีกฎระเบียบบังคับไว้ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาลงโทษ ซึ่งทางออกที่ดีในเรื่องนี้ คือ ทั้ง 2 ฝ่ายควรประนีประนอมกัน ส่วนในฐานะรักษาการประธานสภา จะเชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาไกล่เกลี่ยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจะดีกว่า ส่วนสภาจะมีมาตรการตักเตือนหรือประณามบุคคลที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสภาเสียหายหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทางกรรมการคงดูตามข้อเท็จจริง และคงดำเนินการตามความเหมาะสม
ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตั้งแต่เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.)แล้ว คาดว่า จะมีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจำนวน 7 คน และจะใช้เวลาไม่นานในการสอบสวน จะทำให้เร็วที่สุด โดยจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 15 วัน รวมทั้งจะพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ คณะกรรมการจะต้องไปดูทีวีวงจรปิดของรัฐสภามาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง ยอมรับว่าวิปฝ่ายค้านได้มีการขอภาพวงจรปิดไปตรวจสอบแล้ว แต่จะเปิดเผยต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนได้หรือไม่นั้นคงต้องขอพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า บทลงโทษสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นการว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น แต่ในอนาคตจะมีการยกร่างข้อบังคับเพื่อกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม