xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์ “ชมรม ส.ส.ร.50” ต้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ชมรม ส.ส.ร.50 ได้ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ กรณีพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะมาตรา 237 วรรคสอง ว่า 1.มาตรานี้ร่างขึ้นในช่วงยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าจะมีผู้ใดบังอาจทำผิดในอนาคต เป็นการร่างเพื่อบังคับใช้กับบุคคลทั่วไปโดยเท่าเทียมกัน มิได้จำเพาะเจาะจงเอาผิดผู้ใด แต่การเสนอแก้ไขนี้เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 50 โดยปรากฏแน่ชัดว่ามีกรรมการบริหารพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยกระทำผิด และยังมีกรณีกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยศาลฎีกา จึงเชื่อได้ว่า เป็นความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อช่วยเหลือตนเองและพวกพ้อง

2.เจตนาของมาตรา 237 วรรคสอง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงและการทุจริตเลือกตั้ง มุ่งหมายให้พรรคเป็นนิติบุคคลที่รับผิดชอบต่อผู้สมัครของตนเองไม่ให้ทำผิด หากไม่ดูแลให้ถือว่าเป็นเหตุให้ยุบพรรค เนื่องจากทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ การเสนอแก้ไขเท่ากับพยายามหลีกหนีกระบวนการยุติธรรม เป็นการลบล้างรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือผู้โกงเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้รับผิดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

3.ที่ผ่านมาผู้ขอแก้ไขไม่เคยวิจารณ์มาตรา 237 มาก่อน กระทั่งเมื่อกกต.มีความเห็นว่าจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค จึงมีนักการเมืองออกมาร้องขอให้แก้มาตรานี้ พิจารณาได้ว่าการจะแก้ไขมีที่มาจากนักการเมืองผู้ได้รับผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมจากการโกงเลือกตั้ง เพื่อให้ตนและพวกรอดพ้นความผิดตามรัฐธรรมนูญ

4.เนื้อหาในวรรคสองที่จะตัดออก เท่ากับตัดตอนลบล้างมิให้เอาผิดกับกรรมการบริหารพรรครู้เห็นเป็นใจ สมควรให้คงมาตรานี้ไว้ เพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบการเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐ

5.หลักการรับผิดชอบร่วมกัน โดยมาตรานี้วางหลักการไว้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนต้องช่วยกันดูแล ซึ่งเป็นหลักการที่ก้าวหน้า และเป็นการลงโทษทางการเมือง เพราะถือว่าไม่น่าไว้ใจที่จะให้เข้ามาทำงานของส่วนรวม เปรียบไม่ได้กับที่อ้างว่าเป็นโทษประหารชีวิต

6.ข้ออ้างที่ว่า ส.ส.เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับฉันทานุมัติมาใช้อำนาจแทนประชาชน แต่การลงคะแนนของประชาชน เพื่อให้นักการเมืองมาทำหน้าที่ผู้แทน นำความต้องการของประชาชนไปปฏิบัติในสภาแทนประชาชน มิใช่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ แม้พรรคพลังประชาชนจะอ้างว่าเคยหาเสียงว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่มิได้บอกความจริงว่า จะแก้มาตรานี้เพื่อให้พรรคพวกของตนเองที่กระทำผิดไม่ต้องรับผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และ

7.ความโปร่งใสและความชัดเจนในการดำเนินการ ซึ่งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านการรับฟังความเห็นและผ่านการทำประชามติ แต่การแก้ไขครั้งนี้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดประเด็น ดังนั้นการแก้ไขครั้งนี้จึงเป็นการริเริ่มโดยนักการเมือง ดำเนินการโดยนักการเมือง ตัดสินใจโดยนักการเมือง และเพื่อนักการเมืองอย่างแท้จริง

“การจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาต้องคำนึงว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย หากกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 122 ที่ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชน ไม่อยู่ในอาณัติ ความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาจถูกถอดถอนได้ตามมาตรา 270 ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย วิกฤตที่นำไปสู่การนองเลือด มีเหตุลุกลามจากความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้ง 14 ตุลา 16 ตุลา หรือพฤษภา 35 ทาง ส.ส.ร.50 จึงห่วงใย ที่รัฐธรรมนูญเพิ่งบังคับใช้เพียง 7 เดือน ก็จะถูกแก้ไขเพื่อช่วยเหลือตนเองและพวกพ้องให้หลีกหนีการพิจารณาดำเนินดีตามกระบวนการยุติธรรม จึงขอเรียกร้องให้ ส.ส., ส.ว. และทุกภาคส่วนป้องกันไม่ให้มีการละเมิดหลักนิติรัฐ ตัดตอนกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้สูญเสียเลือดเนื้อของคนในชาติอย่างเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น