ยิ่งสาวยิ่งลึก! สำนักเลขาฯ ครม.เผยทำหนังสือสอบถาม ก.พ. เรื่องวุฒิ “สุธา ชันแสง” ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาฯ โดยทาง ก.พ.ยอมรับสถาบันการศึกษามีตัวตนจริงเท่านั้น แต่ไม่ได้รับรองวุฒิการศึกษาว่ามีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
วันนี้ (21 มี.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ทำหนังสือเพื่อสอบถามถึงคุณสมบัติการจบการศึกษาของนายสุธา ชันแสง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2551
ทั้งนี้ ได้รับแจ้งว่า ทาง กพ.ได้รับรองสถาบันการศึกษา Republican College ประเทศฟิลิปปินส์ ว่ามีตัวตนจริงเท่านั้น ไม่ได้รับรองวุฒิการศึกษาของนายสุธาว่าได้จบการศึกษาตามหลักสูตรจริงหรือไม่ เพราะทาง ก.พ.ไม่สามารถจะเข้าไปตรวจสอบว่านายสุธาได้ลงทะเบียนเรียนตามหลักสูตรและได้เรียนจบตามที่นายสุธากล่าวอ้างหรือไม่
“เพื่อความชัดเจน ผู้ร้องควรจะนำหลักฐานหรือเอกสารไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นผู้ตรวจสอบว่านายสุธามีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 174 ที่ระบุว่ารัฐมนตรีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่าหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม การขอหลักฐานวุฒิการศึกษาจากสถาบันต่างประเทศนั้น เช่น สหรัฐอเมริกาจะถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่หากจะนำออกมาเปิดเผยต้องได้รับอนุญาตก่อนจากเจ้าของวุฒิการศึกษาจากสถาบันแห่งนั้น และสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการขอข้อมูล คือ ความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนการเรียนการสอนย้อนหลัง เพราะอาจจะมีการตกแต่งดัดแปลงได้ เช่น การเพิ่มชื่อ หรือการลบชื่อ ดังนั้นการตรวจสอบย้อนหลังจึงมีความยากลำบากพอสมควร
ทั้งนี้ หากนายสุธาส่งหนังสือเพื่อขอให้ สลค.รับรองคุณสมบัติครบตามมาตรา 174 สลค.ในฐานะผู้รับรองคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีเมื่อก่อนเข้ารับตำแหน่ง ทาง สลค.คงไม่สามารถรับรองให้ได้ แต่จะส่งคืนเอกสารหลักฐานการจบปริญญาตรี ที่นายสุธาเคยส่งมาให้ก่อนเข้ารับตำแหน่งคืนกลับไปให้แทนเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องยากในกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ว่า บุคคลคนคนนั้น ได้จบการศึกษาจริงจากสถาบันใดสถาบันหนึ่ง อย่างไรก็ตามการตรวจสอบควรจะให้ทาง กพ.ซึ่งมีหน่วยงานชุดเฉพาะกิจพิเศษตรวจสอบความถูกต้องของวุฒิการศึกษาเฉพาะอยู่แล้วควรเข้าไปเป็นผู้ตรวจสอบ
ขณะนี้ทาง สลค.ยังไม่มีทางออกในเรื่องนี้ หากมีการตรวจสอบพบว่า นายสุธา ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรีจริงตามมาตรา 174 เนื่องจากข้อกฎหมายนี้มีความยุ่งยากในเรื่องการตีความว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยเฉพาะการเทียบวุฒิการศึกษาที่จบมาจากต่างประเทศกับ ก.พ. ควรจะกำหนดกันอย่างไร และหากขาดคุณสมบัติจริงจะถูกถอดถอนหรือไม่อย่างไร
ก่อนหน้านั้น นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการออนไลน์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าว นายสุธา ชันแสง รมว.พม.ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาตรีปลอม จากประเทศฟิลิปปินส์ ว่า จากการตรวจสอบของ ก.พ.Republican College ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) และทางกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ได้รับรองวุฒิการศึกษา Bachelor of Science in Commerce (Management) (BSC) ของวิทยาลัยดังกล่าวในปี ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) ดังนั้น เมื่อกระทรวงศึกษาธิการของประเทศที่สถาบันการศึกษาตั้งอยู่ให้การรับรอง ก็ถือหลักเกณฑ์ว่า วุฒิการศึกษาดังกล่าวได้รับรองจาก ก.พ.ด้วยโดยอัตโนมัติ ซึ่ง ก.พ.ได้แจ้งเรื่องนี้ต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว
“วุฒิการศึกษาดังกล่าวได้รับรองจาก ก.พ.ให้บรรจุเข้ารับราชการได้ ทั้งนี้ ไม่ได้ควบคุมถึงผลการตรวจสอบการสำเร็จการศึกษา” เลขาธิการ ก.พ.กล่าว พร้อมระบุว่า การดำเนินการของ ก.พ.เป็นการตรวจสอบว่าสถาบันการศึกษาดังกล่าว ได้รับการรับรองโดยถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่การตรวจสอบเรื่องตัวบุคคล ว่าจบการศึกษาจริงหรือไม่ เพราะมีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลห้ามไว้