xs
xsm
sm
md
lg

“กล้านรงค์” แฉโฆษกหุ่นเชิดมั่ว ตะแบงอุ้ม รมต.หวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กล้านรงค์” ตอกกลับ “วิเชียรโชติ” ตะแบง มติ 24/2545 อุ้ม รมต.หวย แจงเหตุที่อ้างใช้กับข้าราชการประจำ ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “วีระ” จี้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

วันนี้ (13 มี.ค.) นายกล้านรงค์ จันทิก ในฐานะโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ครั้งที่ 24/2545 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 ในการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เคยมีมติในการประชุมครั้งที่ 24/2545 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 ว่า การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จะต้องกล่าวหาในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกิน 2 ปี และการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ขาดตอนและต่อเนื่องกัน หากขาดตอนแล้วจะถือเอาความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในครั้งหลังมาเป็นองค์ประกอบความผิดในขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งก่อนไม่ได้นั้น

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 24/2545 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 ดังกล่าว เป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งจำนวน 2 คน กระทำความผิดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างทางด่วน โดยขณะที่มีการกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่งได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีกรายหนึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่ง จึงมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดรัฐวิสาหกิจเดิมเกินกว่า 2 ปีแล้ว แต่ไปดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐในตำแหน่งใหม่จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ ที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบพิจารณา

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 30/2545 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 ได้พิจารณาความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวตามที่อนุกรรมการกฎหมายและระเบียบเสนอแล้ว มีมติว่า ในเรื่องนี้เป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในฐานะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ มิใช่เป็นการกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นการกล่าวหาตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งจะต้องกล่าวหาในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกิน 2 ปี และจะต้องเป็นกรรมและวาระเดียวกัน หากความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ขาดตอนไม่ต่อเนื่องกันแล้วจะถือเอาความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งหลังมาเป็นองค์ประกอบในการกล่าวหาการกระทำความผิดในขณะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งก่อนไม่ได้

“มติกรรมการ ป.ป.ช.ข้างต้นนี้ เป็นเรื่องของการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ต้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกิน 2 ปี แต่หากเป็นการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ย่อมมีอำนาจที่จะรับเรื่องกล่าวหาบุคคลดังกล่าวไว้พิจารณาดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 23 กำหนดให้ผู้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ (1) อัยการสูงสุด (2) คณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยมาตรา 10 บัญญัติให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มติว่า เรื่องที่กล่าวหา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นมีมูลเป็นความผิด” นายกล้านรงค์ กล่าว

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ในประเด็นมาตรา 55 เรื่องการยุติการปฎิบัติหน้าที่นั้น ทาง ป.ป.ช.ไม่ได้มีการวินิจฉัยหรือนำเรื่องสู่ที่ประชุม ดังนั้น ป.ป.ช.จึงไม่มีการวินิจฉัย แต่เป็นในส่วนที่ คตส.ได้ฟ้องคดีต่อศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ คตส.ได้มีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีให้พิจารณามาตรา 55 ซึ่ง คตส.ไม่ได้ชี้ว่า กรณีนั้นจะเข้ามาตรา 55 หรือไม่ เป็นเพียงแค่การบอกว่า มีมาตรา 55 แล้วก็ส่งเรื่องให้นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลพิจารณา

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า คตส.ไม่มีอำนาจไปวินิจฉัย เป็นแต่เพียงว่าเมื่อไต่สวนแล้ว ดำเนินการแล้ว เห็นว่ากรณีนี้เข้าเข้าตามมาตรา 43(2) คตส.ก็ชี้มาตรา 55 เพื่อให้พิจารณาเท่านั้นเอง ซึ่งรายละเอียด โฆษก คตส.ก็จะเป็นผู้ชี้แจง ส่วนตนก็ชี้แจงในฐานะ ป.ป.ช.

ในขณะที่ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า ในประเด็นที่มีการถกเถียงกันในมาตรา 55 เมื่อ คตส.ใช้อำนาจ ป.ป.ช.ในมาตรา 55 ว่า รัฐมนตรีควรจะเว้นวรรคการปฎิบัติหน้าที่นั้น เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ฝ่ายบริหาร รัฐบาล ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยุติปัญหาการถกเถียง และที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีเองจะได้ไม่ถูกดำเนินคดีในฐานการเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการออกมาปกป้อง 3 รัฐมนตรี อย่างไรก็ตามในอดีตเคยมีบรรทัดฐานในการใช้มาตรา 55 กรณี 9 ป.ป.ช.ที่ขึ้นเงินเดือนตัวเอง ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น มี พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนี้อยู่ด้วย ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ภายหลังที่ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะคดีนี้ ป.ป.ช.เป็นผู้กระทำความผิด ผู้ที่จะตรวจสอบ คือ สภา แต่หากเป็นองค์กรอื่น หรือนักการเมือง ป.ป.ช.จะเป็นผู้ตรวจสอบและส่งฟ้องศาลฎีกา

“แม้ว่ามาตรา 55 ไม่เคยมีการส่งตีความศาลรัฐธรรมนูญหรือมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีอันต้องสิ้นสุด แต่โดยหลักกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าจะต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่ทันทีถ้าถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าจะต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมหรืออยู่ในตำแหน่งใหม่” นายวีระ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น