“นักกฎหมาย” กาง กม.ตบหน้า “หมัก” หลัง คตส.ชี้มูลหวยบนดินแต่กลับดันทุรังหนุน 3 รมต.ที่มีเอี่ยวให้ทำงานต่อไป ด้าน “คมสัน” แจงชัด ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกันใช้อำนาจ ก่อนงัดข้อกฎหมายชี้ คตส.มีอำนาจยื่นฟ้องด้วยตัวเอง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ คนในข่าว
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเปิดประเด็นซักถาม ดร.ทิวา เงินยวง คณะบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต และนายคมสัน โพธิ์คง อดีต ส.ส.ร. ถึงข้อโต้แย้งทางกฎหมาย กรณี คตส.ใช้อำนาจ ป.ป.ช. ฟ้อง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน และนายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม ฐานมีความผิดเรื่องหวยบนดิน ว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
โดย นายทิวา กล่าวว่า สำหรับกรณีของ 3 รัฐมนตรี ที่ถูก คตส.กล่าวหานั้น ตามกฎหมายมาตรา 55 ของ พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. คือ กรณีที่ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล ซึ่งนับตั้งแต่วันที่มีมติดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ จนกว่าวุฒิสภา หรือศาลจะวินิจฉัยแล้ว และถ้าแปรความตามตัวหนังสือ คือ ถ้ายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการตรวจสอบ ดังนั้นวันนี้เราต้องดูให้ชัดว่าเจตนารมณ์มันต้องต่อเนื่อง
“มาตรา 5 ของประกาศ คปค.เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า คตส.สามารถใช้อำนาจโดยชอบของ ป.ป.ช.ได้ ซึ่งในทางเดียวกันถ้า คตส.ชี้มูลก็เหมือนกับ ป.ป.ช.ชี้มูล ซึ่งหมายถึงจะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ในทันที”นายทิวา กล่าว
นายทิวา กล่าวอีกว่า การที่ คตส.จะใช้อำนาจสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช.ได้ จะต้องมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิด จนสุดท้ายกระทรวงการคลังร้องทุกข์กล่าวโทษมา ทำให้ คตส.มีอำนาจสืบสวนสอบสวนได้ ซึ่งมีผู้เสียหายชัดเจน ถามว่ามติคณะรัฐมนตรีในวันนั้น นั่งอยู่ด้วยกันหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีมติออกมา ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมาย แต่กรณีที่บอกว่าลาออกแล้วไม่มีความผิด เพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนั้นแล้วกลับมาเป็นรัฐมนตรีต่อ ถือว่าเป็นการตีความแบบศรธนญชัย โดยเฉพาะกรณีของ น.พ.สุรพงษ์ ถือว่าเห็นชัดในการให้คุณให้โทษเกี่ยวกับกระบวนการวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ด้าน นายคมสัน กล่าวว่า คตส.มีอำนาจ 3 ส่วน คือ ป.ป.ง. ประมวลกฎหมายรัษฎากร และกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่ง คตส.มีอำนาจเกินกว่าที่ ป.ป.ช.มีด้วยซ้ำไป และตนเห็นไม่ต่างจากอาจารย์ทิวา เรื่องกฎหมายมาตรา 55 เพราะมีเหตุผลที่ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากหากยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้น การที่จะดำเนินคดีอาญาอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้
“โดยเฉพาะมาตรา 55 ไม่พูดถึงตำแหน่ง แต่พูดถึงการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งควรเป็นเกณฑ์ที่จะต้องนำมาพิจารณา ดังนั้นถ้าตีความตามภาษาชาวบ้านก็คือการพักงาน ไม่ได้โดนไล่ออก และกรณีที่ระบุว่า คตส.ไปบังคับให้หน่วยงานร้องทุกข์กล่าวโทษรัฐมนตรีที่ถูกชี้มูล ซึ่งถ้าหน่วยงานเหล่านั้นไม่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็จะต้องถูก คตส.ดำเนินการฟ้องร้อง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะถ้ารัฐเกิดความเสียหาย หน่วยงานรัฐจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นประเด็นที่บอกว่าไปบังคับเขา มันก็คือการบังคับด้วยผลของกฎหมาย”นายคมสัน กล่าว
ส่วนข้อตอบโต้ของรัฐบาลว่าพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้วนั้น นายคมสัน กล่าวว่า ปัญหามันอยู่ที่การเล่นคำว่ายังอยู่ในตำแหน่ง หรือไม่อยู่ในตำแหน่ง แต่มันอยู่ที่ว่าท่านยังสามารถใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการใช้อำนาจรัฐที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในการดำเนินคดีต่อไปได้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า เพราะอาจจะเกิดปัญหาต่อการลงมติถอดถอน ดังนั้นจะต้องหยุดการทำหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา แต่ถ้าพูดในเชิงตำแหน่งก็สามารถเล่นลิ้นได้ตลอด รวมทั้งคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรกลุ่ม ดังนั้นทุกคนที่นั่งอยู่จะต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้อำนาจ ซึ่งไม่สามารถขาดส่วนใดส่วนหนึ่งได้ จึงต้องรับผิดร่วมกัน ฉะนั้นข้ออ้างเรื่อง 3 รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จึงโต้แย้งไม่ได้ ยกเว้นว่าได้เคยโต้แย้ง หรือแสดงไว้แล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
อดีต ส.ส.ร. ยังกล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช. ว่า ประเด็นนี้ในทางวิชาการในการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น จะไม่ใช้วิธีพิจารณาคดีอาญาเหมือนทั่วๆ ไป แต่จะใช้วิธีพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีลักษณะพิเศษ โดยวางหลักการว่า อัยการสูงสุด เป็นผู้ใช้อำนาจตรวจสอบกลั่นกรองในคดีอาญาขณะนั้น ไม่ได้มีฐานะเหมือนเดิม แต่มีหน้าที่เพียงแค่ส่งฟ้อง และถ้าปฏิเสธไม่ส่งฟ้อง หน่วยงานที่ดำเนินการตรวจสอบเขาสามารถสั่งฟ้องได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เขาก็รับเอาไว้ด้วยซ้ำ ว่า ถ้าเกิดอัยการสูงสุดมีปัญหาว่าจะสั่งฟ้องไม่สั่งฟ้อง จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเท่าๆ กัน และถ้ายังมีปัญหาอยู่ ป.ป.ช.สามารถส่งฟ้องได้เอง หรือสามารถแต่งตั้งทนายขึ้นมาฟ้องร้องได้
“การที่รัฐบาลจะส่งกฤษฎีกาตีความนั้น ในแง่ของการรับคำปรึกษาทั้งหลายแหล่ คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีข้อจำกัด เพราะถ้าหากคดีนั้นๆ อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล กฤษฎีกาก็จะรับตีความไว้ไม่ได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อการดำเนินคดี ซึ่งในกฎหมายมีการห้ามไว้ในระดับหนึ่ง จึงไม่เหมาะที่จะให้กฤษฎีกาตีความ และควรที่จะให้ศาลพิจารณาเรื่องนี้”นายคมสัน กล่าว
ต่อมา นายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส.ได้ต่อโทรศัพท์เข้ามาชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ที่เรายื่นเรื่องไปให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตี นั้น เพราะเราเห็นว่าอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้หากไม่ให้ 3 รัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าเห็นว่าไม่เสียหาย ท่านก็ต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจ และถ้าเราไม่ยื่นเรื่องไปก็ถือว่า คตส.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งเราไม่มีความเห็นที่จะให้กฤษฎีตีความ เพราะต้องให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ตัดสิน
“ระหว่างนี้ผมแจ้งไปเพื่อให้พ้นวาระหน้าที่ของ คตส. เพราะเราไต่สวนตามคำร้องของกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งความจริงรัฐมนตรีคลังท่านก่อน ท่านกล่าวโทษก่อนที่เราจะแจ้งไปยังนายกฯ ส่วนอำนาจฟ้องของ คตส.นั้น ระบบไต่สวนเราไม่ได้ใช้วิอาญา แต่เราใช้กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งมีองค์กรไต่สวน องค์กรฟ้องคดี และองค์กรตัดสิน ดังนั้นการส่งฟ้องเองของ คตส.จึงไม่ได้ข้ามขั้นตอน”นายอุดม กล่าว