xs
xsm
sm
md
lg

“วุฒิพงษ์” แฉ ส.ส.แหกตาสมานฉันท์ เย้ย “รบ.หมัก” ไม่พ้นสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วุฒิพงษ์” ฟันธงรัฐบาลอยู่ไม่เกินสิ้นปี พร้อมชี้ 3 สาเหตุจุดจบ วอน ส.ส.อย่าแหกตาสมานฉันท์ แนะล้างป่าช้าสภา ด้าน “ลูกพรรค พชป.” โวยลั่นเอาคนบ้ามาทำงาน ขณะที่ “อภิสิทธิ์” ติงอย่าเหมารวมนักการเมืองยกชุด ยัน 15 ปีไม่เคยแสวงหาประโยชน์

วันนี้ (19 ก.พ.) นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ สนช.ได้ลุกขึ้นอภิปรายนโยบายของรัฐบาลว่า ตนเป็นห่วงรัฐบาล เพราะผู้นำรัฐบาลอาจจะตีโจทย์เหมือนรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งโจทย์นี้ไม่ใช่โจทย์ 4 ปี แต่เป็นโจทย์ที่ทำใน 9 เดือนเท่านั้น จึงขอพยากรณ์โดยการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และทางโหราศาสตร์ คาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้คงจะต้องมีรัฐบาลใหม่ และอายุรัฐบาลคงจะไม่ยืนยาวเท่าอายุนายกฯ ทั้งนี้ รัฐบาลอาจจะจบลงได้ 3 ทาง คือ 1.ผู้นำรัฐบาลต้องประกาศยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ 2.มีสาเหตุมาจากความวุ่นวายจากการเป็นรัฐบาลผสมทั้ง 6 พรรคการเมือง และไม่เกินสิ้นปีนี้ก็คงจะเห็นคนมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน หรือท้องสนามหลวง และ 3.เกิดการปฏิวัติอีกครั้ง

“ความสมานฉันท์ไม่ใช่คำตอบ เพราะ 1.ทำไม่ได้ 2.ไม่จำเป็นต้องทำ และ 3.ทำไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ และที่ทำไม่ได้ก็เพราะดูบรรยากาศในห้องประชุมก็รู้ว่าสมานฉันท์เป็นไปไม่ได้ โตกันแล้วอย่าหลอกกันเลย และขอยืนยันว่า ผมเป็นคอการเมืองที่เป็นอิสระ ไม่ได้ฝักใฝ่พรรคใด ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชน ชาติไทย ประชาธิปัตย์ เพื่อแผ่นดิน หรืออะไรก็ตามแต่” นายวุฒิพงษ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ตลอดระยะเวลาที่ นายวุฒิพงษ์ อภิปรายอยู่นั้น ส.ส.พรรคพลังประชาชน หลายคน อาทิ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน นายทองดี มนิสสาร ส.ส.อุดรธานี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนกลุ่มที่ 8 และ ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน ได้ลุกขึ้นประท้วง นายวุฒิพงษ์ เป็นระยะๆ พร้อมระบุให้ นายวุฒิพงศ์ อภิปรายในประเด็น และไม่ควรกล่าวเสียดสีบุคคลอื่น

โดย นายจตุพร กล่าวว่า ในความเป็นจริง ตนมีคิวที่จะพูดในวันที่ 20 ก.พ.นี้ แต่เมื่อฟังคำของผู้อภิปราย ซึ่งพูดในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในความเป็นจริงให้ นายวุฒิพงษ์ พูดสั่งลาก็ได้ เพราะจะทำหน้าที่อีกเพียงไม่กี่วัน และ นายวุฒิพงษ์ เอง ก็เป็นคนเขียนหนังสือคู่มือทรราช แต่ 19 กันยายนก็ไปอยู่กับทรราช และยังอยู่ในบอร์ดของ บ.ทีโอที รวมถึงยังมีปัญหากับ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม อีกด้วย เรื่องนี้คนเขารู้กันทั้งประเทศ

โดยในระหว่างที่ นายจตุพร ประท้วงอยู่นั้น นายสุนัย ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ นายจตุพร ได้ปรบมือ 1 ครั้ง พร้อมกับตะโกนว่า “เอาแล้ว” อย่างไรก็ตาม นายยงยุทธ ในฐานะประธานการประชุม ได้ห้ามปราม และขอความร่วมมือ นายวุฒิพงษ์ ให้อภิปรายในประเด็น ส่วนเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองนั้น ควรที่จะไปเสนอความเห็นที่รายการวิทยุของรัฐสภา เนื่องจากเวลาการอภิปรายมีจำกัด

จากนั้น นายวุฒิพงศ์ จึงอภิปรายในประเด็นทางเมืองต่อ โดยกล่าวว่า ตนเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่นักการเมือง เพราะนักการเมืองต่อสู้เพื่อแสวงหาตำแหน่ง และผลประโยชน์ทางการเมือง แต่นักต่อสู้ทางการเมืองต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น ความเห็นอาจจะแตกต่างกันได้ ซึ่งเมื่อถึงช่วงนี้ ร.ต.ท.เชาวริน ได้ลุกขึ้นประท้วง โดยระบุว่า ตนไม่ชอบรับบทประท้วง แต่ตรงนี้ไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะประโยคเมื่อกี้ ตนขอร้องให้ถอนคำพูดเสีย ซึ่งตนทำงานทางการเมืองมากว่า 32 ปี ประวัติไม่มีด่างพร้อย และไม่เคยทำอย่างที่ นายวุฒิพงษ์ พูดแต่อย่างใด อีกประเด็นหนึ่ง คือ ในสภาต้องอภิปรายในสภาด้วยความเคารพ แต่นี่ยืนล้วงกระเป๋าเหมือนนักเลง อย่างนี้ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม นายยงยุทธ ได้อนุญาตให้ นายวุฒิพงศ์ อภิปรายต่อไปโดยขอให้ถอนคำพูดตามที่ ร.ต.ท.เชาวริน ร้องขอ ซึ่ง นายวุฒิพงษ์ กล่าวว่า ตนขอให้รัฐบาลช่วยดำเนินการ 2-3 อย่าง ดังนี้ ขอให้เขียนกฎกติกาบ้านเมือง หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับด้วย นอกจากขอเสนอให้เปลี่ยนตัว กกต.เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย และสิ่งที่สำคัญ คือ การล้างป่าช้าสภานิติบัญญัติที่ สนช.ใช้ช่วงเวลาครั้งสุดท้ายดำเนินการออก พ.ร.บ.สำคัญหลายฉบับด้วยความรีบเร่ง อาทิ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบ เป็นต้น

ในช่วงท้าย นายสุนัย ได้ใช้สิทธิประท้วง นายวุฒิพงษ์ โดยกล่าวว่า ตนมีความสงสาร นายวุฒิพงษ์ เป็นอย่างมาก และไม่เข้าใจว่า คมช.ตั้ง นายวุฒิพงษ์ มาทำงานร่วมกันได้อย่างไร สงสัยจะบ้าด้วยกัน ซึ่ง นายยงยุทธ ได้ขอให้ นายสุนัย ถอนคำพูด โดย นายสุนัย กล่าวต่อว่า นายวุฒิพงษ์ กำลังหลงมิติบางเรื่อง ความคิดเลยกรอบไปเยอะ ดังนั้น ตนขอร้องให้ สนช.ตรวจสอบดูว่า ในสภานิติบัญญัติมีคนเหล่านี้เยอะไหม ที่ไม่ยอมรับระบบประชาธิปไตยเช่นนี้

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า เราหลายคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ประกอบอาชีพนักการเมือง ทุกอาชีพต้องมีทั้งคนดี และไม่ดี ไม่ได้มองว่าคนที่ประท้วงท่าน หรือตัวท่าน ใครเลวกว่ากันแน่ แต่เราต้องพูดกันในหลักการ เพราะเท่าที่ตนมาทำหน้าที่นักการเมือง 15 ปี ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์ ตนได้ตำแหน่งมาอย่างถูกต้อง ซึ่งยอมรับว่าช่วงปฏิวัติยืนอยู่คนละข้างกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีแนวคิดที่จะสนับสนุน การเปลี่ยนแปลงนอกระบบ ถึงให้ตำแหน่งก็ไม่เอา ดังนั้น นักการเมืองต้องสำรวจตัวเอง การที่มาสรุปที่ว่าพวกเราขาดๆ เกิน แม้ว่ากติกาของเราจะขาดเกินไปบ้าง แต่เราก็มีนักการเมืองที่ดีมาบริหารประเทศ

“อย่างกรณีลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีเสียงที่โนโหวต ซึ่งเสียงเหล่านั้นคนที่เป็นนักการเมืองก็ต้องรับฟัง แต่คิดว่าเป็นคนละเรื่องที่จะมาดูหมิ่นดูแคลนกัน ถ้าท่านลองมาทำพรรคการเมือง จะทราบว่ายากลำบากแค่ไหนในการที่จะได้บุคคลกรที่ดี ดูอย่างพอเปิดให้มีการสรรหา สว. คนลงเลือกตั้งไม่ถึง 30 คน เพราะทราบว่า 1 คะแนนกว่าจะได้มา มันหนักหนาสาหัส ไม่ว่าคนที่อยู่ในพรรคผม หรือคนที่อยู่คนละฝั่งกับพรรคประชาธิปัตย์ อย่างน้อยผมก็เคารพในความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะยึดถือวิธีทางที่ยึดโยงกับประชาชน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ถ้าจะเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมือง หรืออะไรก็ตาม ก็เป็นสิทธิ์ และโอกาสดีกว่าพวกตนในปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมในการเขียนกติกาทั้งหมด เราแทบไม่มีโอกาส แต่ก็พยายามประคับประคองให้สู่กระบวนการที่ถูกในระยะ 1 ปี แล้วให้ประชาชนตัดสิน ที่ตนลุกขึ้นมาไม่ได้ประสงค์ที่จะเป็นเรื่องตอบโต้ไม่จบ แต่ขอความกรุณาให้ความเป็นธรรมกับพวกเราบ้าง ไม่ใช่ทุกคนที่เลวร้าย และอีกหลายคนที่พยายามจะทำ ถ้าเราจะได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม งานของเราก็จะง่ายขึ้น และความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาล้างบาง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำกันอย่างสร้างสรรค์
กำลังโหลดความคิดเห็น