xs
xsm
sm
md
lg

โปรดเกล้าฯ"ยงยุทธ"เป็นประธานสภาผู้แทนฯแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โปรดเกล้าฯ "ยงยุทธ" เป็นประธานสภาผู้แทนฯแล้ว ขณะเดียวกัน วิปรัฐบาลถกเครียดรับมือโหวตเลือก “หมัก” เป็นนายกฯ หวั่นแหกโผอีก

วันนี้ (24 ม.ค.) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติ เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2551 เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ 1. นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 2. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 3 พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2

จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าว เป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามความในมาตรา 124 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2551 เป็นปีที่ 63 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่อาคารรัฐสภากลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อ ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้ประกาศกับสื่อมวลชน ว่า จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งได้เดินตรวจสอบความพร้อมของการจัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา มีการนำกรวยดอกไม้มาตั้งไว้

ทั้งนี้ นายยงยุทธ ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ ต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่บรรดา ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนจำนวนมาก ต่างเดินทางเข้าร่วมในพิธีการสำคัญในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เช้าเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดเตรียมสถานที่ รวมถึงพานพุ่ม และพวงมาลัย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับที่จะประกอบพิธีในการรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยบรรดาข้าราชการต่างสวมใส่ชุดขาวเพื่อเตรียมเข้าร่วมในพิธีการสำคัญในครั้งนี้

ขณะที่บรรดา ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน ต่างก็ทยอยเดินทางเข้ามาร่วมรอรับพระบรมราชโองการ และแสดงความยินดีกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนฯคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

ด้าน นายยงยุทธ ได้เดินทางเข้ามายังอาคารรัฐสภา โดยมีบรรดาข้าราชการให้การต้อนรับ แต่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เนื่องจากยังต้องรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการก่อน

ขณะที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และคนที่ 2 ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภาแล้วเช่นกัน พร้อมเข้าตรวจความพร้อมของห้องทำงานที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารรัฐสภาด้วย

นอกจากนี้ยังมีบรรดา ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนหลายคนต่างสวมชุดขาวเตรียมมาร่วมพิธีดังกล่าวและร่วมแสดงความยินดีกับนายยงยุทธด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเตรียมการสถานที่ในครั้งนี้ถือว่ามีลักษณะเทียบได้กับพิธีรับสนองพระบรมราชโองการฯ ของนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิป) ที่มีนาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เป็นประธาน ซึ่งมีตัวแทนวิปจากพรรครัฐบาลทั้ง6พรรค ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ นาย สุขุมพงศ์ โง่นคำ พรรคเพื่อแผ่นดิน พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดิน น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะ นาย สุชาติ ตันติวณิชชานนท์ ส่วนพรรคชาติไทยมี นาย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นาย นพดล พลเสน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริและพรรคประชาราช นาย สมชัย เจริญชัยฤทธิ์ เป็นการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในสภาระหว่าง ส.ส.รัฐบาลกับรัฐบาล พร้อมกำหนดวันประชุมในสมัยประชุมสภา

ภายหลังการหารือนาน 2 ชั่วโมงนายสุขุมพงศ์ ในฐานะรองประธานกรรมการประสานงานฯ แถลงว่า ที่ประชุมได้หารือกัน3เรื่อง 1.องค์ประกอบที่จะมาเป็นวิปรัฐบาลก่อนตั้งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ซึ่งน่าจะมาจาก 3 ส่วน คือ ตัวแทนครม.3-5 คน เพื่อประสานการนำร่างกฎหมายที่สำคัญให้วิปรัฐบาลกลั่นกรอง หรือนำความเห็นของครม.มาพิจารณา 2.สมาชิกแต่ละพรรคในสัดส่วน 6 ต่อ 1 อย่างน้อยพรรคละ 2 คน โดยแต่ละพรรคจะเป็นรองประธานวิป และ3.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ส.ส.แต่มีความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม และความมั่นคง

นายสุขุมพงศ์กล่าวว่า สำหรับจำนวนวิปรัฐบาลที่ตั้งขึ้นจะมีทั้งหมด 65 คน เท่ากับวิปรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยมีหน้าที่ประสานงานระหว่างส.ส.กับรัฐบาล เพื่อให้การทำงานในสภาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่ผ่านมามีปัญหาทำให้การประชุมขัดข้อง หรือสภาล่ม และได้หารือเรื่องวันประชุมสภาอาจกำหนดวันพุธ หรือพฤหัสบดี เหมือนเดิม แต่ในวันพฤหัสบดี จะนำร่างกฎหมายมาพิจารณาต่อจากการพิจารณากระทู้ถามในช่วงเช้า และญัตติในช่วงบ่าย จะเลิกประชุมประมาณ 20.00 น.ทั้งสองวัน

รองคณะทำงานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ส่วนปัญหาห้องประชุมคณะกรรมาธิการที่ต้องใช้ 45-50 คณะ ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการสามัญ 31 คณะ และคณะกรรมาธิการวิสามัญอีก 10 กว่าคณะ และอื่นๆ แต่สภามีห้องประชุมรองรับเพียง10-12 ห้อง ทำให้เกิดปัญหาองค์ประชุมสภา สมาชิกต้องเวียนกันไปประชุมตามคณะต่างๆจึงน่าปรับเปลี่ยนเวลาการประชุมของคณะกรรมาธิการที่สามารถประชุมได้ทุกวัน

“ที่ผ่านมาสภามีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ทำให้คณะทำงานมีความคิดแก้ปัญหาโดยอาจมีมาตรการเปิดเผยชื่อสมาชิกที่ไม่มาประชุม หรือเซ็นชื่อแล้วแต่ไม่ปรากฏตัวในการประชุมนัดสำคัญ หรือบางคนมาลงชื่อแต่ไม่เข้าประชุม เพื่อให้สมาชิกมีจิตสำนึกที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อพัฒนางานนิติบัญญัติให้มีประสิทธิภาพ จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับขึ้นมาในการประชุมคณะทำงานครั้งต่อไป” นายสุขุมพงศ์กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น