xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกคำร้องรวดเลือกตั้งล่วงหน้าโมฆะ-พปช.เป็นนอมินี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลฎีกาฯยกคำร้องคดีเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ฟ้องการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะ โดยระบุ กกต.ทำตามหน้าที่ ขณะที่รอลุ้นอีกคดี “พรรคพลังประชาชน” เป็นนอมินีไทยรักไทย ไม่มีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.เวลา 16.00 น.ล่าสุดศาลได้ยกคำร้องทุกประเด็น โดยเฉพาะประเด็นนอมินีระบุว่าไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจ

วันนี้(18 ม.ค.)ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยนายจรัส พวงมณี นายกำธร โพธิ์สุวัฒนากุล และนายดิเรก อิงคนินันท์ มีคำสั่งยกคำร้องคดี ที่นายสราวุท ทองเพ็ญ โฆษกพรรคความหวังใหม่ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วนกลุ่ม 3 พรรคความหวังใหม่ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลวินิจฉัยมีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม เนื่องจากเห็นว่า กกต.ออกประกาศกำหนดวันเวลาเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550 ให้เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงตั้งหน้า ณ ที่เลือกกลางตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น.มิชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามคำร้องคำคัดค้านแล้วฟังได้ว่า กกต.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และสนับสนุนการสรรหา ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม.235 วรรค 1 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ม. 10 (1) ที่ให้ กกต. ออกระเบียบและประกาศ ตามแก่ความจำเป็นให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศง 2550 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2550 รวมทั้งการออกเสียงการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ม.236(1) พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ ม. 10 (2) โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2550 กำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550

โดยผู้ร้องเป็นผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 3 พรรคความหวังใหม่ ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2550 กกต.ผู้คัดค้านได้ออกประกาศกำหนดวันและเวลาการเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550 กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550

คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง ตามวันเวลาดังกล่าวทั่วราชอาณาจักรเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ ม.95 วรรค 1 บัญญัติว่า ในกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับคำสั่งจากทางราชการไปปฎิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนต้องใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งหรือวันเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง ให้ขอใช้สิทธิการลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งต่อ กกต. วรรค 2 บัญญัติว่าเมื่อ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้ง มอบหมาย ให้ตรวจสอบการมีสิทธิเลือกตั้งของผู้แจ้งความประสงค์ตามวรรค 1 แล้ว ถ้าเห้นว่าถูกต้องให้กำหนดที่เลือกตั้งกลางที่ผู้นั้นจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งและแจ้งให้ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบ และหมายเหตุสถานที่ที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเอกสารที่เกี่ยวข้อง และวรรค 3 กำหนดว่าหลักเกณฑ์และวิธีการในการลงคะแนนเลือกตั้งตามวรรค 1 สถานที่และจำนวนที่เลือกตั้งกลาง และวันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ กกต.ประกาศ

โดยศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม. 95 วรรค 1-3 เป็นการกำหนดขั้นตอนให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมด้วยการออกระเบียบและประกาศซึ่ง กรณีที่ กกต.ออกประกาศกำหนดวันและเวลาการเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550 กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางตั้งแต่เวลา 08.00 น.- 17.00 น. จึงเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ม. 95 ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อประกาศดังกล่าวได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 นั้น ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ ม.5 ดังนั้นการที่ กกต.ผู้คัดค้าน ออกประกาศกำหนดวันเวลาเลือกตั้งล่วงหน้า ดังกล่าวนั้นก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

นายสราวุท กล่าวว่า น้อมรับคำสั่งของศาลเพราะถือเป็นที่สุดแล้ว ศาลเห็นว่า กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่มีอำนาจแล้วการจัดการเลือกตั้งจะเป็นตามกฎหมายหรือไม่นั้น ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาอีกคดีหนึ่ง ให้วินิจฉัยพฤติการณ์จัดการเลือกตั้งที่อนุญาติให้บุคคลเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ไม่มีการสอบสวนว่ามีความจำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ โดยอนุญาตให้ทุกคนที่ไปกรอกรายละเอียดและสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้เลย ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นด้วยความบริสุทธ์ ยุติธรรม ตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ โดยคดีนี้ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 21 มกราคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฟังคำสั่งวันนี้นายสราวุท เดินทางมาฟังคำสั่งด้วยตัวเองพร้อมกับ นายชิงชัย มงคลธรรม หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ขณะที่ทางฝ่าย กกต.ผู้คัดค้านมีนายณัฐศักดิ์ สุวรรณทวีสุข ผู้อำนวยการฝ่ายคดี กกต.เป็นตัวแทนเข้าร่วมรับฟัง โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งให้ความสนใจมาร่วมรับฟังด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกคดีสำคัญที่ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ ของพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องใน 4 ประเด็น คือ พรรคพลังประชาชน เป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย และ นายสมัคร เป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย รวมทั้งในประเด็นที่ให้การเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเป็นโมฆะ โดยศาลนัดอ่านคำพิพากษาในเวลา 16.00
น.

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยสรุปว่า ประเด็นแรก ที่ผู้ฟ้อง ฟ้องพรรคพลงประชาชนว่า เป็นนอมินี ไม่มีสิทธิส่งส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชน ทั้งระบบสัดส่วนและระบบเขต และเรื่องที่ฟ้องว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค เป็นตัวแทน ไม่มีสิทธิลงนามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ศาลเห็นว่า เรื่องนอมินี ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง แต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จึงให้ยกคำร้อง ส่วนเรื่องที่ฟ้องขอให้ศาล พิพากษาการเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ชอบด้วยกฏหมาย และให้เพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้า รวมทั้งให้เพิกถอนการนับคะแนนนั้น ศาลเห็นว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจในการร้อง เนื่องจากมาร้องภายหลังมีการเลือกตั้งไปแล้ว

ส่วนเรื่องที่ฟ้องให้ศาลมีการพิพากษาในการแจกจ่ายวีซีดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ของพรรคพลังประชาชน เป็นการผิดกฏหมายหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า เป็นอำนาจของกกต.ที่จะวินิจฉัย ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง โดยสรุปยกคำร้องทุกประเด็น

ควาบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น