xs
xsm
sm
md
lg

“ยุทธ” ส่อรอดยาก! แต่คาดปล่อยผีก่อนแล้วร้องศาลสอยทีหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยุทธ ตู้เย็น” โอากาสรอดยาก แต่คำร้องคัดค้านยุ่งไม่ใช่เล่น ติดขัดข้อกฎหมายนุงนังไปหมดไม่ว่าจะออกใบเหลืองหรือใบแดง ส่อเค้าปล่อยผีไปชั่วคราวแล้วค่อยร้องศาลฎีกาฯ สอยเอาภายหลัง

มีรายงานว่า จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเรื่องร้องคัดค้าน นายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ส.สัดส่วนกลุ่มหนึ่ง พรรคพลังประชาชนนั้น ขณะนี้ยังมีปัญหาว่า กกต.จะสามารถสั่งเลือกตั้งใหม่กรณีให้ใบเหลือง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรณีให้ใบแดงได้หรือไม่ หรือหาก กกต.แจกใบเหลือง ใบแดงได้แล้วนั้นจะมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร

ทั้งนี้ ก่อนที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งรอบแรกซึ่งรวมไปถึง ส.ส.สัดส่วน ฝ่ายปฏิบัติได้แจ้งให้ที่ประชุม กกต.รับทราบว่า การที่นายยงยุทธถูกร้องคัดค้านหากต่อมาหลังจากที่ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.สัดส่วนกลุ่มที่หนึ่งคนอื่นๆ ไปแล้ว พบว่านายยงยุทธมีความผิดจนถึงขั้นใบเหลือง หรือใบแดง จะมีปัญหาว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ ส.ส.ในกลุ่มจังหวัดนี้ครบทั้ง 10 คน ซึ่ง กกต.ก็พิจารณาแล้วเห็นว่าปัญหาการร้องคัดค้านนายยงยุทธไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่าที่ ส.ส.คนอื่นในกลุ่มจังหวัด รวมทั้งว่าที่ ส.ส.เหล่านี้ก็ไม่มีเรื่องร้องเรียน กกต. จึงต้องประกาศรับรองผลภายใน 7 วันทำการตามที่กฎหมายกำหนด

รวมทั้ง กกต.มีอำนาจในการแยกประกาศจึงมีมติให้ประกาศรับรองผล ส.ส.สัดส่วนของพลังประชาชนรวม 4 คน จากที่ได้ 5 ที่นั่ง เว้นนายยงยุทธ ติยะไพรัช และพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน และเพื่อแผ่นดิน 1 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้มีแนวโน้มว่ากรณีนายยงยุทธอาจจะมีความผิด ซึ่งหาก กกต.มองว่าการกระทำที่มีการร้องคัดค้านเป็นความผิดส่งผลให้คะแนนที่ลงให้กับพรรคพลังประชาชนในพื้นที่กลุ่มที่ 1 ซึ่งอาจจะเฉพาะใน จ.เชียงราย หรือจังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มที่ 1 เป็นคะแนนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม แต่ความผิดไม่ถึงตัวนายยงยุทธ โดยถ้าเป็นการเลือกตั้งในระบบเขตก็จะต้องถูกสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) จะทำให้เกิดปัญหาว่าในระบบสัดส่วนไม่มีกฎหมายข้อใดกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่

ขณะเดียวกัน มาตรา 110 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งก็กำหนดว่า หากพบว่าคะแนนสัดส่วนที่ลงให้พื้นที่ใดเป็นคะแนนมิชอบก็ให้ตัดคะแนนในพื้นที่ที่มีปัญหาออกไป ไม่ให้นำมาคำนวณรวม ดังนั้น ถ้าจะตัดคะแนนของพรรคพลังประชาชนที่ได้รับในพื้นที่ที่พบว่ามีการทุจริตเลือกตั้งออกไปแล้วนำคะแนนที่เหลือมาคำนวณใหม่เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ก็จะไปกระทบต่อ ส.ส.ที่ กกต. รับรองไปก่อนหน้านี้ เช่น หากคำนวณใหม่แล้วจำนวนที่นั่งที่พรรคพลังประชาชนควรได้รับในกลุ่มนี้ลดลงเหลือ 2 ที่นั่ง กกต.จะทำอย่างไรกับผู้ที่ กกต.ได้รับรองไปแล้ว 4 คน จะยื่นศาลฎีกาขอเพิกถอนออก 2 คน หรืออย่างไร ตรงนี้จะทำให้ กกต.เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง

เช่นเดียวกัน หาก กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกับนายยงยุทธ และต้องมีการตัดคะแนนของพรรคพลังประชาชนในพื้นที่ที่ทุจริตการเลือกตั้งออกไป การคำนวณจำนวนที่นั่งก็จะมีปัญหาในทำนองเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ในขณะนี้ล่วงเลยเกินกว่าที่ กกต.จะใช้วิธีการดังกล่าวหากจะใช้วิธีนี้ กกต.ต้องยังไม่ประกาศรับรอง ส.ส.ของทั้งกลุ่มจังหวัดดังกล่าว และจะทำให้ กกต.มีโอกาสที่จะคำนวนคะแนนใหม่ หาก กกต.เห็นว่าการกระทำตามคำร้องคัดค้านเป็นความผิดเฉพาะตัว ที่ไม่กระทบต่อผลคะแนนที่พรรคพลังประชาชนได้รับ กกต.ก็สามารถไม่ประกาศรับรองให้นายยงยุทธเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งและประกาศให้ ผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วนลำดับที่หกของพรรคพลังประชาชนเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งแทน เพราะคะแนนของสัดส่วนนั้นเป็นการให้ที่นั่งกับพรรคการเมือง แต่ไม่ได้ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม มีการมองว่าผลแห่งการกระทำตามคำร้องยากที่จะมองว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดเฉพาะตัว เพราะนายยงยุทธมีสถานะเป็นรองหัวหน้าพรรค และการกระทำของนายยงยุทธย่อมต้องหวังผลให้ผู้มีสิทธิในกลุ่มที่ 1 ลงคะแนนให้พรรคพลังประชาชน

จึงวิเคราะห์กันว่าทางออกที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับ กกต. และไม่ก่อปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย กกต. อาจจำเป็นต้องประกาศรับรองผลของนายยงยุทธไปก่อน โดยอ้างว่ายังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ และเตรียมสำนวนพร้อมความเห็นเพื่อร้องต่อศาลฎีกาภายหลังจากที่รับรองไปแล้ว และเมื่อไปถึงจุดนั้นหาก กกต.พบว่าการกระทำของนายยงยุทธไม่เพียงทำให้นายยงยุทธได้รับประโยชน์คือได้รับเลือกตั้ง แต่ยังส่งผลให้ ส.ส.สัดส่วนคนอื่นของพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้งเช่นกัน ก็สามารถยื่นให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนการเป็น ส.ส.ได้

แต่ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลจะมีผลเฉพาะให้ความเป็น ส.ส.ของคนที่ กกต.ร้อง สิ้นสุดลงหรือไม่เท่านั้นจะไม่มีผลทำให้คะแนน ที่พรรคพลังประชาชนได้รับในกลุ่มจังหวัดนั้นต้องเสียไป ทำให้เมื่อตำแหน่ง ส.ส.สัดส่วนกลุ่มนี้ว่างลงตามคำพิพากษา ประธานสภาสภาผู้แทนราษฎรก็จะใช้อำนาจตามมาตรา 109 (2) ของรัฐธรรมนูญ สั่งเลื่อนผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วนในลำดับถัดไปของพรรคพลังประชาชนขึ้นมา และหากมีผู้สมัครเหลือไม่ถึงกับจำนวนคะแนนที่พึงได้ ส.ส. ก็ให้มี ส.ส.แต่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่ยกคะแนนให้กับพรรคการเมืองอื่น

ทั้งนี้ ผลคะแนนสัดส่วนในกลุ่มจังหวัดที่ 1 ระบุว่า พรรคพลังประชาชนได้คะแนน 1,895,372 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ 1,385,755 คะแนน ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน 145,493 คะแนน

/0110

กำลังโหลดความคิดเห็น