xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองระงับเลิกจ้าง TITV เบรก “สนธิญาณ” นั่งแท่น ผอ.ข่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พนักงานทีไอทีวีเฮ ศาลปกครองสั่งระงับตั้ง “สนธิญาณ” นั่งรักษาการ ผอ.ฝ่ายข่าวทีไอทีวี ไว้เป็นการชั่วคราว พร้อมวินิจฉัย 12 พนักงานยังคงทำงานในตำแหน่งเดิม หลังสิ้นสุดสัญญาจ้าง

วันนี้ (7 ม.ค.) นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีที่ นายอลงกรณ์ เหมือนดาว และพนักงานบริษัท ทีไอทีวี จำกัด รวม 12 คน ยื่นฟ้องอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ 1003/2550 และคำสั่งที่ 1004/2550 ลงวันที่ 21 ธ.ค.2550 เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหารสถานี เจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานสถานี และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายข่าว จำนวน 12 คน ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับโดยให้ระงับการปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนของการแต่งตั้ง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นรักษาการฝ่ายข่าวไว้เป็นชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ส่วนคำขอให้ศาลสั่งให้พนักงานบริษัท ทีไอทีวี จำกัด ทั้ง 12 คน ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม และให้ใช้โครงสร้างการบริการเดิมของฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีไปก่อน จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ....จะมีผลบังคับใช้นั้นให้ยก

ทั้งนี้ เหตุผลในการมีคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาจ้าง พนักงานบริษัทที่ยื่นฟ้อง ยกเว้น นายอลงกรณ์ ได้ยื่นความประสงค์ขอต่อสัญญาแล้ว และปรากฏว่า หลังสิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 31 ธ.ค.2550 ทั้งหมดยังคงทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไป การออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ก็ไม่มีการหยุดชะงัก จึงถือว่ามีการตกลงว่าจ้างกันใหม่ตามสัญญาเดิม ดังนั้น ถือว่าพนักงานบริษัทที่ยื่นคำฟ้องมีฐานะเป็นผู้รับจ้างของบริษัท ทีไอทีวี ซึ่งในส่วนที่ว่า คำสั่งทั้ง 2 ฉบับของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า จากคำฟ้องนี้มีมูล อันเป็นเนื้อหาของคดีที่ศาลจะพิจารณาต่อไป

ส่วนคำขอที่ให้ศาลกำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมีคำสั่งให้ทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม และให้ใช้โครงสร้างการบริหารเดิมของฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีไปก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่า ร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ....จะมีผลบังคับใช้นั้น จากข้อเท็จจริงพบว่า คำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 1004/2550 ที่แต่งตั้ง นายอลงกรณ์ นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ นายจอม เพชรประดับ น.ส.ฉัตรรัศม์ ปิยทัศน์สิริ นายอำไพ โพธิ์ชัยรัตน์ นายชิบ จิตนิยม นายประทีป คงสิบ นายเชาวน์วัศ วณิชพันธ์ นายนุกูล กาญจนรัตน์ และน.ส.ประไพ ยั่งยืน ให้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.ฝ่ายข่าวและผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายข่าวนั้น ไม่ปรากฏว่า คำสั่งดังกล่าวได้แต่งตั้งผู้อื่นมาทำหน้าที่เดิมของบุคคลเหล่านี้ โดยนายอลงกรณ์เองก็ให้ถ้อยคำต่อศาล ว่า ทุกคนยังคงปฏิบัติหน้าที่เดิมตามที่ระบุในสัญญาจ้าง จึงไม่สมควรที่จะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ร้องขอ

สำหรับคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ 1003/2550 ส่วนที่แต่งตั้ง นายนพพร พงษ์เวช ให้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สถานีด้านบริหาร นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สถานีด้านข่าวและรายการ นายธนา ทั่วประโคน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผอ.สถานีด้านบริหาร และ นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ให้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สถานีด้านข่าวและรายการนั้น ไม่มีผลโดยตรงต่อพนักงานที่ฟ้องคดีทั้ง 12 คน จึงไม่สมควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ร้องขอ

“แต่คำสั่งดังกล่าวในส่วนที่แต่งตั้ง นายสนธิญาณ ให้รักษาการ ผอ.ฝ่ายข่าว ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในด้านการเสนอข่าว ย่อมมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการทำหน้าที่ของนายอัชฌา ที่ทำหน้าที่ ผอ.ฝ่ายข่าวอยู่เดิม อันจะมีผลกระทบต่อการเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในการเสนอข่าวโดยไม่ถูกแทรกแซง ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น หากคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อีกทั้งการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวก็ไม่เป็นปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ และการเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีอันเป็นบริการสาธารณะ เนื่องจากการดำเนินการของสถานีย่อมสามารถดำเนินการต่อไปตามที่เป็นอยู่เดิมได้ และเมื่อศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ย่อมมีผลให้ นายอัชฌา สามารถปฏิบัติหน้าที่เดิมต่อไปได้

ส่วน นายอลงกรณ์ นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ นายจอม เพชรประดับ น.ส.ฉัตรรัศม์ ปิยทัศน์สิริ นายอำไพ โพธิ์ชัยรัตน์ นายชิบ จิตนิยม นายประทีป คงสิบ นายเชาวน์วัศ วณิชพันธ์ นายนุกูล กาญจนรัตน์ และ น.ส.ประไพ ยั่งยืน นั้นข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม และไม่มีการแต่งตั้งผู้อื่นมาทำหน้าที่แทน จึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยมีคำสั่งให้พนักงานทั้ง 12 คน ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมตามคำขอ
กำลังโหลดความคิดเห็น