บ้านพระอาทิตย์ – นักอนุรักษ์-นักวิชาการร่วมทำนายอนาคต คาดอีกไม่นานสูญพันธุ์แน่สำหรับ “สิงห์ปากห้อย” ทั้งๆ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเจริญวัยและขยายพันธุ์เร็วมาก เชื่อหมดป่ามหาดไทยในอีกไม่เกินปีครึ่ง รุมติง “ดร.ห้อย” จงใจผลิตจนเหนือธรรมชาติเกินไป
อ้าว! จู่ๆ ดันจะสูญพันธุ์ซะร้าว โดยเรื่องราวที่แทบไม่มีใครคาดเดานี้ถูกเปิดเผยหลังจากที่เหล่านักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ ร่วมกับนักวิชาการปศุสัตว์ชื่อดังจำนวนหนึ่งซึ่งตั้งวงประชุมหารือกันอย่างลับๆ ละแวกคลองหลอด เล่าให้ ยอด ยาหยี บรรณาธิการบริหารผู้จัดกวนสุดเสน่ห์ฟัง ว่าตามที่พวกเขาส่งผู้เชี่ยวชาญและทีมงานไปติดตามความเคลื่อนไหวอีกทั้งความเป็นไปของพญาราชสีห์สายพันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า “สิงห์ปากห้อย” สรุปว่าขณะนี้สิงห์ปากห้อยเริ่มมีจำนวนลดน้อยถอยลงไปจากอดีตอย่างน่าใจหาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงราว 2 ปี ที่ผ่านมา ปรากฏว่าสิงห์ปากห้อยสร้างความฮือฮาให้บรรดาข้าราชการกระทรวงมหาดไทย นักการเมือง และชาวบ้านชนิดต้องอ้าปากหวอ อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าลูกยุงลายในโอ่งไร้ฝา จนมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ป่าออกมาคาดคะเนอย่างเป็นทางการว่าถ้าลงเป็นอีหรอบนี้อีกไม่เกิน 8-10 ปี สิงห์ปากห้อยจะครอบครองผืนป่ามหาดไทยอย่างมิพักต้องสงสัยแน่นอน
ผู้แอบกระซิบบอกเรื่องนี้ยังกระซาบต่อด้วยว่า น่าเสียดายและน่าใจหายเป็นล้นพ้นที่ห้วงเวลาแค่เดือนเศษ กลับสำรวจตรวจพบว่าบรรดาสิงห์ปากห้อยเริ่มทยอยหดหายไปจากป่ามหาดไทยอย่างไม่น่าเชื่อ แรกทีเดียวอาจหายไปเฉพาะสิงห์ปากห้อยตัวไม่เล็กไม่ใหญ่ กระทั่งท้ายที่สุดยิ่งตัวใหญ่มากเท่าไรก็ยิ่งสูญหายไปมากเท่านั้น จนนักวิชาการและนักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าต้องพยายามหาเหตุผลว่าเกิดจากอะไร เหตุไฉนไยเล่าสิงห์ที่เคยผงาดทั้งๆ ที่ปากของมันแต่ละตัวห้อยย้อยยาวเกือบถึงผืนดินจึงไม่ค่อยออกหากินด้วยการล่าเหยื่ออย่างห่ามหื่นเช่นที่เคยเป็น
“จากการส่งทีมงานลงพื้นที่ เราพบข้อมูลที่ต้องเรียนให้ทราบกันอย่างเร่งด่วนว่า เวลาอีกไม่เกินปี หรือปีครึ่งสิงห์ปากห้อยจะกลายเป็นของหายาก ยกเว้นพวกมันอาจจะกลายพันธุ์ หรือไม่ก็ถูกสภาพแวดล้อมกล่อมเกลาให้แปรสภาพเป็นสิงห์พันทาง เพราะไม่อย่างนั้นพวกมันจะไม่มีที่อยู่ที่ยืนอีกต่อไป หลายคนให้ความคิดเห็นว่าต่อจากนี้สิงห์หน้าเหลี่ยมซึ่งเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งจะผงาดขึ้นมาครองความเป็นเต้ย จะดุร้าย เหี้ยมเกรียมและออกล่าเหยื่อไม่เลือกสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ หากไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกันจะถูกขย้ำจนไม่เหลือกซาก” นักอนุรักษ์สัตว์ป่าให้ความเห็น
ฝ่ายนักวิชาการกล่าวเสริมว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาถ้า ดร.ห้อย ผู้ค้นพบและสร้างพันธุกรรมสิงห์ปากห้อยจะไม่ผลิตลูกสิงห์ปากย้อยออกสู่ป่าเพื่อล่าเหยื่อจนเกินหน้าเกินตาสายพันธุ์อื่นมากไป จำนวนของสิงห์ปากห้อยอาจไม่ถูกทำลายชนิดล้างเผ่าพันธุ์อย่างทุกวันนี้เป็นแน่ ส่วนหนทางแก้ไขและร่วมกันอนุรักษ์สิงห์ปากห้อยไว้คงเป็นเรื่องยาก เพราะตอนนี้เริ่มพบว่าบรรดาสิงห์ปากห้อยค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์เพื่อป้องกันความอยู่รอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว