กองทัพภาคที่ 2 สรุปสถานการณ์สู้รบ 27 ก.ค.ไทยยึดพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1 ต่อ 50,000 ได้เพิ่มที่ช่องอานม้า รักษาที่มั่นภูมะเขือ ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือน ช่องจอม ขณะกัมพูชายังพยายามเข้าโจมตี ภาพรวมยังตึงเครียดสูง ฝ่ายกัมพูชาอาจเตรียมปฏิบัติการสร้างความเสียหายให้ฝ่ายเรามากที่สุดก่อนการเจรจา และส่งผลกระทบต่อประชาชน ล่าสุดอพยพแล้ว 1 แสนกว่าคน
ศูนย์ปฏิบัตรการกองทัพภาคที่ 2 (ศปก.ทภ.2) สรุปสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2568 (ณ เวลา 12.00 น.)
ตามที่เกิดสถานการณ์สู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 สรุปผลการปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
สถานการณ์การสู้รบ :
สภาพอากาศตามแนวชายแดนยังปรากฏฝนตกหนักในหลายพื้นที่, ภาพรวมสถานการณ์ในช่วงบ่าย จนถึงช่วงกลางคืนของวันที่ 26 ก.ค. 68 มีการปฏิบัติที่สำคัญจำนวน 7 พื้นที่ (ลดลงจากวันแรก 3 พื้นที่) ดังนี้
1. พื้นที่ช่องบก ทั้งสองฝ่ายตรึงกำลัง และปรากฏข่าวสารว่ามีการเคลื่อนย้ายกำลังบางส่วนมาช่วยในพื้นที่ภูมะเขือ, พื้นที่ช่องอานม้า ฝ่ายเราดำเนินการเข้าควบคุมพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1 : 50,000 ขณะที่กำลังประเทศกัมพูชาได้เคลื่อนย้ายลงไปทางทิศใต้
2. พื้นที่ภูผี-ปราสาทโดนตวล และช่องตาเฒ่า ยังตรึงกำลังกันอยู่ ฝ่ายประเทศกัมพูชาน่าจะมีการสูญเสียอย่างหนัก สำหรับผู้บัญชาการกองพลของประเทศกัมพูชาที่ปรากฏข่าวสารว่าเสียชีวิตเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่นี้ อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติการทางทหารแล้วยังไม่สามารถยืนยันข่าวสารนี้ได้
3. พื้นที่ด้านหน้าเขาพระวิหาร ยังคงมีการสู้รบกันอยู่ โดยอาวุธหลักของประเทศกัมพูชาคือการใช้พลซุ่มยิงจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร มุ่งทำร้ายกำลังพลของเรา ขณะที่พื้นที่ภูมะเขือ ฝ่ายเรายังคงควบคุมพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1: 50,000 เอาไว้ได้
4. พื้นที่ช่องจอม มีการใช้อาวุธยิงสนับสนุน โจมตีบ้านเรือนประชาชนไทย และพื้นที่ปราสาทตาควาย และฝ่ายประเทศกัมพูชา มีความพยายามในการส่งรถถังขึ้นมายังพื้นที่ช่องกร่าง ทางทิศตะวันตกปราสาทตาควาย 2 กิโลเมตร
5. พื้นที่ปราสาทตาเมือนธม มีการปรับรูปขบวนเข้าตีทางทิศตะวันออกปราสาทตาเมือนตลอดทั้งวัน จนฝ่ายเราต้องถอนตัวออกจากพื้นที่และใช้ปืนใหญ่โจมตีทำให้ฝ่ายประเทศกัมพูชาต้องถอนตัวออกไป
สำหรับการปฏิบัติในวันที่ 27 ก.ค. 68 ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 06.30 น. ฝ่ายกัมพูชาได้ใช้จรวดไม่ทราบชนิดจากที่ตั้งสนามบินกรุงสำโรง จำนวน 4 นัด ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนไทย 2 หลัง สัตว์เลี้ยง 5 ตัว
การปฏิบัติของฝ่ายเราที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าควบคุมพื้นที่ตามแนวเส้นปฏิบัติการ 1: 50,000 บริเวณช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
พื้นที่ซึ่งประเทศกัมพูชายังคงมีความพยายามในการเข้าพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ช่องตาเฒ่า ด้านหน้าเขาพระวิหาร และภูมะเขือ พื้นที่ช่องจอม ปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือน ซึ่งการรุกรานดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนตามแนวชายแดน จากการยิงอาวุธที่ไม่มีรูปแบบ ไม่เป็นไปตามกฎการปะทะของฝ่ายกัมพูชาก็เป็นได้
ภาพรวมของสถานการณ์ยังมีความตึงเครียดสูง และฝ่ายกัมพูชาอาจกำลังเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางทหาร เพื่อสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายเราให้มากที่สุดในช่วงสุดท้ายก่อนการเจรจา โดยปัจจุบันได้มีประเทศเป็นกลางเสนอแนวทางในการยุติความขัดแย้งออกมาแล้วหลายประเทศ โดยเฉพาะความเห็นของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
การอพยพประชาชน : สนับสนุนส่วนราชการจังหวัดในการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงภัย ไปยังพื้นที่รวบรวมพลเรือน พื้นที่ตอนในทั้ง 4 จังหวัด ดังนี้ จ.บุรีรัมย์ 1 จุด 10,173 คน, จ.สุรินทร์ 71 จุด 40,736 คน, จ.ศรีสะเกษ 135 จุด 39,580 คน และ จ.อุบลราชธานี อพยพเข้าพื้นที่รวบรวมพลเรือน 76 จุด 16,588 คน ปัจจุบันดำเนินการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเข้าพื้นที่รวบรวมพลเรือนแล้ว 107,077 คน (เพิ่มขึ้น 9,646 คน)
ผลกระทบต่อประชาชน : พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ มีกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ 3 ลูก, ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ มีกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ 16 ลูก, บ.โสร์ ต.บ้านพลวง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มีกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ 9 ลูก บ้านเรือนเสียหาย 3 หลัง (ประชาชน ไม่มีรายงานการสูญเสียต่อชีวิต)
เรื่องอื่นๆ
1. ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสาร และการแจ้งเตือนจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น เฟชบุ๊กแฟนเพจกองทัพบก Royal Thai Army, เพจกองทัพภาคที่ 2 เป็นต้น และขอความร่วมมือไม่แชร์ข้อมูลจากแหล่งที่มาข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ
2. ขอให้งดการโพสต์ หรือแชร์ภาพการเสียชีวิตของทหารกัมพูชา ซึ่งเป็นภาพที่น่าหดหู่ เพื่อให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิต
จิตอาสาพระราชทาน การช่วยเหลือประชาชน ดูแลและช่วยเหลือประชาชน โดยจัดกำลังจิตอาสา 904, จิตอาสาพระราชทาน และจิตอาสา เข้าอำนวยความสะดวกประชาชนในศูนย์พักพิงชั่วคราว และช่วยขนย้ายสิ่งของ รวมทั้งช่วยในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้รับทราบ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.บุรีรัมย์, จ.สุรินทร์, จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี และจิตอาสา 904 จาก ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น จิตอาสา904 147 นาย, จิตอาสาประชาชน 2,480 และ รด.จิตอาสา 220 นาย
การจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ มีโรงครัวพระราชทาน 1 แห่ง รถประกอบอาหาร 2 คัน และมีร้านอาหารเอกชน ณ สนามช้างอารีน่า, จ.สุรินทร์ โรงครัวพระราชทาน 3 แห่ง รถประกอบอาหาร 2 คัน จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อ.เมือง, ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ อ.เมือง และที่โรงเรียนโสตศึกษา อ.ปราสาท, จ.ศรีสะเกษ โรงครัวพระราชทาน 2 แห่ง รถประกอบอาหาร 2 คัน จัดตั้งที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์, ที่โรงเรียนเบญจลักษณ์วิทยา อ.กันทรลักษ์ และ จ.อุบลราชธานี โรงครัวพระราชทาน 1 แห่ง รถประกอบอาหาร 2 คัน จัดตั้งที่ที่ว่าการ อ.เดชอุดม รวมข้าวที่แจกจ่าย ตั้งแต่วันที่ 24-27 ก.ค. 68 จำนวน 125,100 กล่อง
การปฏิบัติที่สำคัญ : ศอ.จอส.พระราชทาน จ.นครราชสีมา โดยสำนัก ปภ.จังหวัดนครราชสีมา จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวให้แก่ผู้อพยพจากพื้นที่ประสบภัยเหตุการณ์ปะทะระหว่างไทย-กัมพูชา โดยจัดตั้งในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เสิงสาง รวม 399 คน, วัดสว่างวนาราม ต.เสิงสาง 22 คน, วัดหนองสนวน ต.กุดโบสถ์ 127 คน, พักอาศัยอยู่บ้านญาติ 250 คน, อ.หนองบุญมาก รวม 254 คน (พักบ้านญาติทั้งหมด), อ.ชุมพวง รวม 52 คน, พักบ้านญาติ 47 คน, วัดเกาะท่าลาด ต.ท่าลาด 5 คน รวมทั้งสิ้น 705 คน