จับโป๊ะ “สมโภชน์” เอี่ยวบริษัทชนะประมูลใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ส่งมอบงานล่าช้าเป็นปีทำราชการเสียประโยชน์ แต่อุบเงียบเรื่องค่าปรับกว่า 300 ล้าน แฉการเมืองและบิ๊กกระทรวงแรงงานหนุนหลัง
จากกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือถึง นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ตรวจสอบ นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมจัดหางานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลังพบข้อสงสัยว่าอาจเอื้อผลประโยชน์ช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลงาน โครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตต่อใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) มูลค่า 7,950 ล้านบาท ซึ่งมีกิจการร่วมค้าชื่อดังรายหนึ่งประมูลงานได้ โดยมีการลงนามเซ็นสัญญาตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2566 และกำหนดต้องส่งมอบงานภายในเดือน ก.ค. 2567 หากไม่สามารถส่งมอบงานตามกำหนดต้องเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.10 ของมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบ
จนกระทั่งกระทรวงแรงงานมีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการเอ่ยถึงการสั่งปรับบริษัทผู้ชนะการประมูลที่ไม่สามารถส่งมอบงานตามสัญญานานเป็นเวลานับปี รวมเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท ส่อให้เห็นว่าอาจมีการวิ่งเต้นช่วยเหลือบริษัทเอกชนรายดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการเจรจาต่อรองเพื่อขอโควตาแรงงานต่างด้าวเพื่อจะนำมาขึ้นทะเบียนนอกระบบกินหัวคิวส่วนต่าง เฉลี่ย 2,200บาทต่อคน มีมูลค่าหลายหมื่นล้านซึ่งสอดคล้องกับที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้เข้าจับกุมเมื่อเร็วๆ นี้ และมีความเชื่อมโยงกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งพรรคการเมืองที่ดูแลกระทรวงแรงงานในขณะนั้น
ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการฯ ดังกล่าว พบว่าเป็นของ กิจการร่วมค้า ฟิวเจอร์ สกาย ที่เสนอราคาวงเงินทั้งสิ้น 7,800 ล้านบาท และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปพบว่ากิจการร่วมค้า ฟิวเจอร์ สกาย เป็นการรวมตัวของ 2 บริษัท คือ บริษัท สกาย อาย เทค จำกัด และ บริษัท ฟิวเจอร์ ฟอร์ ทูเดย์ โดยบริษัท สกาย อาย เทค จำกัด มีบริษัท อีเทอนิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด แจ้งประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น ปรากฏชื่อ นายเอก อาหุนัย และ นางสุรีย์ วศินพิตรพิบูล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ มีบริษัท เอกหญิงกฤษฎ์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 50.9800% บริษัท เอวายเค เวนเจอร์ ลิมิเต็ด ในหมู่เกาะเวิอร์จิน (อังกฤษ) ถืออยู่ 49% หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นายสมโภชน์ อุนัย และนางสุรีย์ คนละ 0.0100% ขณะที่ บริษัท ฟิวเจอร์ ฟอร์ ทูเดย์ จำกัด มีบริษัท อีเทอนิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อีเทอนิตี้ ฟิวเจอร์ จำกัด มีบริษัท เอกหญิงกฤษฎ์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 62.95% บริษัท เอวายเค เวนเจอร์ จำกัด ถือหุ้น 37.05% และมีชื่อ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนางสุรีย์ วศินพิตรพิบูล เป็นผู้ถือหุ้นคนละ 1% โดยนายสมโภชน์ได้ออกจากการเป็นกรรมการ แต่มี น.ส.กุลสตรี อาหุนัย และนายกฤษฎ์ อาหุนัย เข้ามาเป็นกรรมการแทน
ทั้งนี้ นายเอก อาหุนัย เป็นบุตรชายของ นายสมโภชน์ อาหุนัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บุคคลที่กำลังถูก DSI ออกหมายจับกรณีร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด เป็นเหตุให้ได้รับผลประโยชน์ รวม 3,465.64 ล้านบาท ตามการกล่าวโทษของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำให้หลายฝ่ายมีการตั้งข้อสังเกตว่านายสมโภชน์อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ โดยมีพรรคการเมืองและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงแรงงานเอื้อประโยชน์ให้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม การไปร้องเรียนของ นายศรีสุวรรณในครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ตัวเองของ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.แรงงานคนใหม่ ซึ่งเป็นหลานรักของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีทุกสมัยที่มีความสนิทสนมกับนายสมโภชน์ ว่าจะเป็นคนดี มีฝีมือ ไม่ใช่เด็กฝากตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หากจะให้เกิดความสง่างามในตำแหน่ง นายพงศ์กวินควรจะเดินหน้าสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และลากตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ พร้อมทั้งเรียกร้องค่าปรับจากบริษัทเอกชนที่สร้างความเสียหายแก่ทางราชการ เพราะถ้าหากเพิกเฉยแล้วหาทางอุ้มบริษัทเอกชนและข้าราชการที่กระทำผิดต่อไป จะเป็นการสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ และตอกย้ำความไม่เชื่อมั่นให้ข้าราชการในกระทรวงแรงงานและประชาชนต่อไป