xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทสส.หวังกัมพูชาลดเผชิญหน้า ถอนอาวุธระยะไกลกลับไปจุดเดิมปี 67 เสนอเปิดด่านพร้อมกัน 8.00-18.00 น.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผบ.ทหารสูงสุด อยากเห็นการลดกำลังเผชิญหน้าชายแดนไทย- กัมพูชา พร้อมถอนอาวุธระยะไกลกลับไปในจุดเดิมเมื่อปี 2567 ย้ำไทยไม่เคยปิดด่าน แค่ควบคุมเวลา ชี้โจทย์เจรจาต้องเปิดด่านพร้อมกัน 8 โมงเช้า-6 โมงเย็น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ


วันที่ 12 ก.ค.68 เวลา 13.30 น.ที่ฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน กับประเทศเพื่อนบ้าน (ผอ.ศอ.ปชด.) ให้สัมภาษณ์ กรณีสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า วานนี้ 11 ก.ค.68 พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 เผยกับตนว่า ปัจจุบันมีการพูดคุยกันและติดต่อกันมากขึ้นในระดับทหาร มีการลาดตระเวนร่วมกันสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งเราก็เห็นชอบด้วย

จุดยืนของประเทศไทย ยังคงเหมือนเดิม คือ 
1.การรักษาอธิปไตยของชาติ ที่เป็นสิ่งที่เราครอบครองมาอย่างยาวนาน ตามแผนที่ปฏิบัติการของเรา 
2.อยากให้มีการพูดคุยแบบทวิภาคีต่อไปในอนาคต ทั้งการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ที่มีแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธาน, การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม JBC ที่มี กระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน 

เมื่อมีการพูดคุยกัน สิ่งที่เราอยากเห็นคือการลดกำลังเผชิญหน้า อย่างกำลังที่เสริมเข้ามาในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะกำลังอาวุธระยะไกล ซึ่งเราอยากเห็นให้กลับไปเหมือนปี 2567 คือใครมีกำลังเท่าไหร่ ก็ให้กลับไปมีเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองประเทศ

พล.อ.ทรงวิทย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนอยากเห็นการเปิดด่านเพื่อให้การค้าขายและการเดินทางข้ามแดนสะดวกมากยิ่งขึ้น ยืนยันว่า ที่ผ่านมา เราไม่เคยปิดด่าน เพียงแต่เราจะเปิดตั้งแต่ เวลา 08:00 น. ถึง 16:00 น. แต่ทางกัมพูชาปิดด่านตลอดแนว  ดังนั้น การเจรจาเปิดด่าน เราควรเปิดพร้อมกันดีหรือไม่ ตั้งแต่ 08.00 น.ถึง 18.00น. เพื่อให้การจราจรสามารถสัญจรไปมาได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้หลักมนุษยธรรม มีผู้เจ็บป่วยที่ต้องการข้ามมาฝั่งไทย มีเด็กนักเรียนที่ตัองข้ามมาเรียนหนังสือฝั่งไทย ย้ำว่า เรายังคงเปิดให้เข้ามาเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนทั้ง 2 ประเทศ มีความสัมพันธ์กันได้ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อต้องการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และทำให้เกิดความสงบตามแนวชายแดน


กำลังโหลดความคิดเห็น