หลักสูตรสุดยอดการบริหารธุรกิจด้วยกฎหมายสำหรับผู้นำองค์กร หรือ Super LBA (Super Legal Business Administration Leadership Program) รุ่นที่ 2 โดยคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้จัดการเรียนการสอน Module 1 ในธีม “Key Success and Digital Mindset ในการบริหารสำหรับผู้นำยุคดิจิทัล” เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เพื่อเสริมสร้างแนวคิดสำคัญด้านความสำเร็จและการปรับตัวของผู้นำองค์กรในโลกยุคดิจิทัล ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ ห้องประชุมไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
สำหรับ Module ที่ 1 นี้ เริ่มต้นด้วยการบรรยายพิเศษโดย นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ttb เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจในยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลก” โดยถ่ายทอดมุมมองว่าการอยู่รอดขององค์กรในยุคปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนวัตกรรมล้ำหน้า หรือเงินทุนจำนวนมากเท่านั้น แต่เริ่มจาก “วิธีคิด” ที่กล้าตั้งคำถามกับข้อจำกัดเดิม และมองหาโอกาสใหม่ผ่านการเปลี่ยนกรอบความคิด (reframing)
นายฐากร ยกกรณีศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งให้นักศึกษาสร้างกำไรจากเงินทุนเพียง 5 ดอลลาร์ในเวลา 2 ชั่วโมง ทีมที่ประสบความสำเร็จกลับใช้เวลาเพียง 3 นาทีเพื่อขาย “เวลาและพื้นที่ในการนำเสนอหน้าห้องเรียน” ให้ผู้ประกอบการ HR ที่อยากพบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสร้างรายได้กว่า 600 ดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนว่า นวัตกรรมไม่ได้เริ่มจากเทคโนโลยี แต่เริ่มจากคำถามเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครกล้าถาม เช่นเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปที่ปรับราคาสินค้าใกล้หมดอายุแบบเรียลไทม์เพื่อลดของเสีย หรือการจัดเซ็ตกล้วยหอมให้กินตามวัน ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง มากกว่าการพึ่งเครื่องมือทางเทคโนโลยี
ในส่วนของการประยุกต์ใช้ ข้อมูลและ AI ภายใน ttb นายฐากร อธิบายว่า ธนาคารได้นำเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและพนักงาน หรือ Predictive AI คือ AI ที่เรียนรู้ทํานายได้ถูกต้องแม่นยําและคาดการณ์ผลจากการใช้ข้อมูลในอดีตได้ เช่น การพยากรณ์ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ การตรวจจับแนวโน้มลาออกผ่านข้อมูล HR รวมถึงการใช้วิเคราะห์ระบบฟีดแบ็กระหว่างพนักงานด้วยกัน ข้ามสายงานกัน เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง โดยเน้นว่า การใช้ข้อมูลให้เกิดคุณค่าไม่ใช่เรื่องของเครื่องมือเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของผู้นำที่มองเห็นพลังของข้อมูล
ท้ายที่สุด นายฐากร ย้ำว่า Generative AI เป็นทักษะจำเป็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสายครีเอทีฟ การตลาด และเทคโนโลยี ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนได้ถึง 80% พร้อมแนะให้ผู้นำองค์กรส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้การใช้งาน AI อย่างเหมาะสมควบคู่กับการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ พร้อมฝากข้อคิดสำคัญว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ควรรอให้ “รัฐ” หรือ “ระบบ” เป็นผู้เริ่มต้นเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเริ่มจาก “ตัวเราเอง” ด้วยการเปิดรับเทคโนโลยี ตั้งคำถาม และกล้าเปลี่ยนมุมมองเล็ก ๆ ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ในอนาคต
ด้านศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ดิจิทัลเปลี่ยนโลก” โดยย้ำว่า การเข้าสู่ยุคดิจิทัลไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยี แต่คือการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารประเทศอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะภาคราชการที่ต้องเร่งเปลี่ยน “หลังบ้าน” ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ พร้อมเดินหน้ายกระดับความรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) ให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า หนึ่งในความคืบหน้าที่สำคัญคือการจัดตั้ง “ระบบคลาวด์กลางของภาครัฐ” ที่ช่วยให้หน่วยงานสามารถใช้ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (e-Office) ได้โดยไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน ช่วยลดงบประมาณและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 100,000 ราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็นหลักล้านในปีนี้ โดยมี พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการใช้งานเอกสารและลายเซ็นดิจิทัลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ กระทรวงยังได้พัฒนาเทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติเพื่อจัดการปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ สามารถตรวจจับเว็บไซต์ผิดกฎหมายได้วันละกว่า 20–30 ล้าน URL และยื่นคำร้องต่อศาลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้กระดาษ ช่วยให้สามารถปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายได้มากถึงวันละ 3,000 URL ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังตั้งเป้าสร้างบุคลากรที่ใช้งาน AI ได้จริงกว่า 10 ล้านคน พร้อมลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์และระบบ Digital ID เพื่อวางรากฐานสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” ที่โปร่งใส ปลอดภัย และเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวางกรอบกำกับดูแลการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล ปลอดภัยต่อสังคม และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
สำหรับในช่วงท้ายของการเรียนรู้เป็นการบรรยายพิเศษหัวข้อ “โอกาสของธุรกิจไทยในยุคดิจิทัล : อุปสรรคและความท้าทาย” โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ Perfect Storm จากหลายปัจจัยพร้อมกัน ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว สงครามการค้า (Trade War) และความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอัตราที่จะเก็บไทยยังสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ขณะที่เส้นตายในการยื่นข้อเสนอเจรจารอบใหม่กำลังใกล้เข้ามา
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมโลกเผชิญความท้าทายจาก Digital Disruption อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การถือกำเนิดของสมาร์ตโฟน ซึ่งเร่งให้เกิด Digital Transformation ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้วงจรการลงทุนและการคืนทุนของภาคธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างมาก ขณะเดียวกัน เทรดวอร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มต้นในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบซัพพลายเชนโลก นำไปสู่การย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากจีนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ขณะเดียวกันยังมีอุปสรรคที่สำคัญจากการที่กฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการใช้ดิจิทัล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุ
นายเกรียงไกร ยังกล่าวถึงประเด็นร้อนเรื่องการเจรจาภาษีนำเข้าสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ว่า หลังครบกำหนด 90 วันของช่วง “Pause” เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ไทยได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากสหรัฐฯ ในฐานะ 1 ใน 14 ประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง ซึ่งขณะนี้ทีมเจรจากำลังเร่งนำเสนอแนวทางแก้ไขใหม่ให้ทันก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม พร้อมย้ำว่า หากไม่ได้รับการผ่อนปรน อุตสาหกรรมส่งออกหลัก เช่น อาหารแปรรูป ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์การเกษตร อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รัฐจึงควรเตรียมมาตรการรองรับทั้งในเชิงการเงินและการค้าระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ต่อมุมมองของสุดยอดวิทยากรทั้งสามท่าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ ประธานกรรมการหลักสูตร Super LBA รุ่นที่ 2 ได้ให้ข้อสังเกตว่า “จากที่ฟังวิทยากรทั้งสามท่าน มีข้อสรุปที่ตรงกันคือกุญแจแห่งความสำเร็จของผู้นำองค์กรในยุคดิจิทัลคือ การรู้จัก การเข้าใจ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูล และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับความสามารถในการปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีกฎหมายที่ทันสมัย ซึ่งช่วยส่งเสริมธุรกิจในยุคดิจิทัล”