xs
xsm
sm
md
lg

หมอ-พยาบาล-จนท.ราชทัณฑ์ เตรียมรับวิบากกรรม 'ป่วยทิพย์ชั้น 14' อดีต ปธ.กสม.ชี้ แพทยสภาลงโทษแล้ว รอสอบวินัย-อาจถึงขั้นผิดอาญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวัส ติงสมิตร อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาและอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รวมถึงโรงพยาบาลตำรวจ ล้วนมีวิบากกรรมที่ต้องชำระกรณี "ป่วยทิพย์ชั้น 14" นายวัสชี้ว่าเรื่องนี้ยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะจะมีการตรวจสอบทางวินัย และหากพบเจตนากระทำผิด อาจถึงขั้นดำเนินคดีอาญา รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็อาจเข้าข่ายกระทำความผิดเช่นกัน

วันนี้ (10 ก.ค.) นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ชี้ หมอ พยาบาล จนท.ราชทัณฑ์ ไม่รอด เตรียมรับวิบากกรรมป่วยทิพย์ชั้น 14 โดยได้ระบุข้อความ

"แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ ล้วนมีวิบากกรรมที่ต้องชำระกรณีป่วยทิพย์ชั้น 14
----
มีรายงานข่าวเมื่อเย็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 จากแพทยสภา เกี่ยวกับการตรวจสอบแพทย์ 4 รายที่มีผู้กล่าวโทษว่า ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม กรณีการตรวจรักษานายทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด) ที่สถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า

คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้ว มีมติเป็นรายบุคคล ดังนี้

ก) นายแพทย์ ว. (ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์) ในข้อกล่าวหา ให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
มติ: ยกข้อกล่าวโทษ

ข) แพทย์หญิง ร. (แพทย์ผู้ตรวจร่างกายแรกรับ) ในข้อกล่าวหา มีพฤติการณ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
มติ: ว่ากล่าวตักเตือน

ค) พลตำรวจโท นายแพทย์ ส. (นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจในขณะเกิดเหตุ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในข้อกล่าวหา ให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความจริง
มติ: พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นเวลา 3 เดือน (มีผล 1 ต.ค. 2568-31 ธ.ค. 2568)

ง) พลตำรวจโท นายแพทย์ ท. (รองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายแพทย์ใหญ่)
ข้อกล่าวหา ให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
มติ: พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นเวลา 6 เดือน (มีผล 1 ต.ค. 2568-31 มี.ค. 2569)

ผู้เขียนเห็นว่า

1) ปัจจุบันแพทยสภาได้ออกคำสั่งลงโทษแพทย์ทั้งสามรายดังกล่าวแล้ว คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง แพทย์ที่ถูกลงโทษสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งต่อศาลปกครองกลางภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 49)

2) การลงโทษของแพทยสภาดังกล่าว เป็นการลงโทษฐานประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ส่วนราชการต้นสังกัดยังมีหน้าที่ต้องสอบความผิดทางวินัยต่อไป

โทษทางวินัยของข้าราชการพลเรือนมี 5 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน ปลดออก และไล่ออก (พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 88)

โทษทางวินัยของข้าราชการตำรวจ มี 7 สถาน คือ ภาคทัณฑ์, ทัณฑกรรม, กักยาม, กักขัง, ตัดเงินเดือน, ปลดออก และไล่ออก (พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 82)

3) แพทย์ที่ถูกลงโทษทางจริยธรรม และลงโทษทางวินัยแล้ว หากปรากฏว่ามีเจตนาช่วยเหลือให้นักโทษเด็ดขาดพ้นโทษหรือรับโทษน้อยลง อาจมีความผิดอาญาฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (ป.อาญา มาตรา 269) และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (ป.อาญา มาตรา 157)

4) พัศดีและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รวมทั้งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อาจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขังไป (ป.อาญา มาตรา 204) และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (ป.อาญา มาตรา 157)

5) นักโทษเด็ดขาดอาจมีความผิดฐานใช้หรือสนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดอาญา

6) พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กระทำความผิดดังกล่าวต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤตมิชอบกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น แต่หากปรากฏว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมร่วมกระทำความผิดด้วย อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจฟ้องผู้กระทำความผิดทุกคนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

7) การฟ้องคดีอาญาดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับคดีที่ศาลฎีกาฯ กำลังไต่สวนว่ามีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลฎีกาฯ หรือไม่ ครับ

วัส ติงสมิตร
นักวิชาการอิสระ
10/7/68"
กำลังโหลดความคิดเห็น