xs
xsm
sm
md
lg

รายงานการประชุมของ ป.ป.ช. ไม่ใช่เรื่องที่จะขอแล้วให้กันได้ ... จริงหรือ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เป็นธรรมดา ... ที่เวลาเราเกิดข้อสงสัยและได้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องใด ก็ย่อมอยากจะทราบผลการพิจารณาด้วยว่าออกมาเป็นอย่างไร ? และเพราะเหตุใด ?

เช่นเดียวกับประชาชนรายที่จะคุยกันนี้ ... ซึ่งได้เคยยื่นเรื่องกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐรายหนึ่ง โดยขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินที่ไม่ถูกต้อง และต่อมา ป.ป.ช.
ได้ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูลเพียงพอ

ประชาชนรายนี้อยากทราบเหตุผลและรายละเอียดในการพิจารณามีมติข้างต้น จึงได้ยื่นคำขอตรวจดูข้อมูลในการพิจารณาดังกล่าวตามสิทธิที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่ถูก ป.ป.ช. ปฏิเสธในบางรายการ คือ รายงานการประชุมของ ป.ป.ช. เพราะเห็นว่ามีลักษณะเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐ อันเข้าข้อยกเว้นที่ไม่อาจเปิดเผยได้

กรณี ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอของประชาชนในเรื่องที่เคยร้องขอให้ตรวจสอบไว้ จนมีการอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลตามคำขอทุกรายการ เช่นนี้ ... หาก ป.ป.ช. ยังคงยืนยันที่จะไม่เปิดเผย ผู้ขอข้อมูลย่อมสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ ลุงถูกต้องจะพาทุกท่านมาดูรายละเอียดของคดีและคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวกันครับ ...

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ขอให้ดำเนินการไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีทราบว่า ป.ป.ช. ได้มีมติไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง จึงมีหนังสือขอข้อมูล จำนวน 3 รายการ คือ 1. รายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด 2. ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคน ที่รับผิดชอบในเรื่องกล่าวหา และ 3. รายงานการประชุมของ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่ง ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติไม่ให้เปิดเผยรายงานการประชุมและบันทึกเสนอรายงานผลการตรวจสอบและเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด อันเป็นข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่ง
มิให้เปิดเผยก็ได้

ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว โดยต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัย
การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคมฯ ได้มีคำวินิจฉัยให้สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้ง 3 รายการแก่ผู้ฟ้องคดี โดยไม่มีเงื่อนไข ผู้ฟ้องคดีจึงได้ไปติดต่อขอรับเอกสารจากสำนักงาน ป.ป.ช. แต่ได้รับแจ้งว่าต้องรอไปก่อน เนื่องจาก ป.ป.ช. มีมติให้ข้อมูลบางรายการแต่ต้องปกปิดบางส่วน และข้อมูลบางรายการต้องขออนุญาตจากพยานเสียก่อน หากได้รับอนุญาตจากพยานแล้วจะแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ

ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือสอบถามยังไปคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งต่อมาได้รับแจ้งว่าได้มีการเร่งรัดไปยัง ป.ป.ช. แล้ว หากมิได้มีการดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงมีการยื่นฟ้องสำนักงาน ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เป็นคดีนี้เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการทั้ง 3 รายการ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคมฯ

คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การที่สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วน ป.ป.ช. เป็นผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ คือ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่ ป.ป.ช. ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของสำนักงาน ป.ป.ช. ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการ

เมื่อผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิยื่นขอข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่ต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควรเว้นแต่จะขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นเข้าลักษณะที่อาจไม่ต้องเปิดเผยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ให้เป็นดุลพินิจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับสายการบังคับบัญชาที่อาจพิจารณาไม่เปิดเผยข้อมูลนั้นได้ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคมฯ

คณะกรรมการดังกล่าวในฐานะเจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ มีอำนาจทบทวนคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร) ของสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง และอาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิมหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางใดก็ได้ (มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539)

คดีนี้ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องกล่าวหาของผู้ฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีมติไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช. อ้างว่ายังมีเรื่องของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวที่ถูกกล่าวหาอีก 2 เรื่อง ได้แก่ กรณีกล่าวหาว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้และกรณีกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งอยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลเห็นว่าเป็นคนละมูลกรณีกันกับการกล่าวหากรณีนี้ที่พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว

ฉะนั้น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนวนการไต่สวน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (2) ทั้งข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีขอก็เป็นรายงานข้อเท็จจริงหรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้พิจารณาทำคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. มิใช่มีลักษณะเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐที่ไม่อาจเปิดเผยได้ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (3)
แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ซึ่งการพิจารณาวินิจฉัยเป็นความรับผิดชอบของกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละท่าน การเปิดเผยข้อมูลทั้งในชั้นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่และของ ป.ป.ช. จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.

เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ข้อมูลข่าวสารทั้ง 3 รายการ จึงเปิดเผยได้ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคมฯ ก็ได้มีคำวินิจฉัยให้สำนักงาน ป.ป.ช.และ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลตามคำขอของผู้ฟ้องคดี คำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 37 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และมีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ ที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอให้แก่ผู้ฟ้องคดี
จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

ทั้งนี้ แม้สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ช. จะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งจัดตั้งขึ้นให้มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มีหน้าที่ตามมาตรา 215 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ หรือกฎหมายอื่น รวมถึงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ด้วย ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เพียงแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารในบางกรณีที่กฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดไว้ได้เมื่อได้ชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว

ฉะนั้น เมื่อการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอของผู้ฟ้องคดี เป็นการเปิดเผยข้อมูลหลังจากที่ ป.ป.ช. ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้วว่าไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการ ประกอบกับคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยโดยไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไข อันมีผลให้ข้อมูลข่าวสารนั้นถูกยกเลิกชั้นความลับแล้วตามข้อ 24 ของระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ซึ่งหากสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสุจริตและถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวก็ไม่ต้องมีความรับผิดและมีโทษตามกฎหมายใด ๆ รวมถึงตามมาตรา 180 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ (ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ...) ด้วยตามมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้ง 3 รายการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ แก่ผู้ฟ้องคดี ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 224/2566)

จากคดีดังกล่าว ศาลได้วางแนวทางการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการพิจารณาคำขอข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่มีการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยต่อมา ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว มีมติไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง อันถือว่า ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องที่กล่าวหานั้นเสร็จสิ้นแล้ว ดังนี้

1. ข้อมูลรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเอกสาร ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบในเรื่องที่กล่าวหา รวมถึงรายงานการประชุมของ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นข้อมูลข่าวสารที่ ป.ป.ช. ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในความครอบครองของสำนักงาน ป.ป.ช. จึงเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ

2. กรณีผู้ยื่นคำขอข้อมูลดังกล่าว ถูกหน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิเสธการเปิดเผยหรือเปิดเผยเพียงบางส่วน หากผู้ยื่นคำขอยังไม่เห็นด้วย มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูล) ของสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งนั้น และอาจเพิกถอนคำสั่งเดิมหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งไปในทางใดก็ได้ ซึ่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ถือเป็นที่สุด และมีผลผูกพันหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ให้ต้องปฏิบัติตาม การที่สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

3. ข้อมูลเกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริงซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว (ไม่รวมความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงาน) ย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. อันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ อีกทั้งการเปิดเผยข้อมูลทั้งในชั้นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่และของ ป.ป.ช. จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว

อนึ่ง หากเป็นการขอข้อมูลข่าวสารของราชการในขณะที่การไต่สวนข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว อาจจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งเป็นอุปสรรคอย่างร้ายแรงต่อการปราบปรามการทุจริตในอนาคต สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ย่อมมีดุลพินิจที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 74/2564)

ทั้งนี้ นอกจากกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัย
การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งผู้ยื่นคำขอมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาพิพากษาให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นแล้ว กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยไม่เปิดเผยข้อมูลตามที่ขอ แต่ผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วย ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
ของราชการนั้นได้เช่นกันครับ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)
กำลังโหลดความคิดเห็น