กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาออกแถลงการณ์โต้กลับ ยันไทยละเมิด MOU 43 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะข้อ 1 ที่ระบุชัดให้ใช้แผนที่ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการสยาม-ฝรั่งเศสเป็นพื้นฐานจัดทำเขตแดน แต่กลับใช้แผนที่ที่ทำขึ้นฝ่ายเดียวเพื่ออ้างสิทธิและบุกรุกดินแดน ฝ่ายกัมพูชาจึงจำเป็นต้องฟ้องศาลโลก เพราะกลไกทวิภาคีหยุดชะงัก
ภายหลังจากที่วานนี้ (6 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กัมพูชาปฏิบัติตามพันธกรณีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้แก้ไขปัญหาเขตแดน โดยใช้กลไกทวิภาคี นั่นคือ คณะกรรมาธิการร่วมชายแดน (JBC) ไม่มีตรงไหนที่ให้ใช้กลไกอื่นรวมทั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) พร้อมเรียกร้องให้กัมพูชานำ 4 พื้นที่พิพาทกลับมาเจรจาในที่ประชุม JBC เพราะการนำเรื่องขึ้นร้องต่อ ICJ ถือว่าเป็นการทำผิดต่อพันธกรณีตาม MOU 2543 นั้น
ล่าสุดวันนี้ (7 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ กัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ และอ้างว่าแถลงการณ์ของฝ่ายไทยที่ออกมาเมื่อวานนี้ไม่ถูกต้อง จึงขอชี้แจงดังนี้
1. กัมพูชาขอยืนยันความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการแก้ไขข้อพิพาทชายแดนโดยสันติตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน และบันทึกความเข้าใจปี 2543 การดำเนินการของกัมพูชาในประเด็นชายแดนดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต การยึดมั่นในพันธกรณีในการบังคับใช้สนธิสัญญา และหลักการแห่งความเสมอภาคทางอธิปไตย และการยุติข้อพิพาทโดยสันติตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ
2. จำเป็นต้องเน้นย้ำว่าประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีหลักภายใต้บันทึกความเข้าใจปี 2543 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะมาตรา 1 ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าแผนที่ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการสยาม-ฝรั่งเศส เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างอินโดจีน-สยามเป็นพื้นฐานสำหรับการกำหนดเขตแดนของกัมพูชาและไทย แม้จะขัดต่อพันธกรณีนี้ ประเทศไทยยังคงยืนกรานและใช้แผนที่ที่ร่างขึ้นฝ่ายเดียวเพื่ออ้างสิทธิในดินแดนและบุกรุกดินแดนกัมพูชา การกระทำเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและบันทึกความเข้าใจปี 2543 ซึ่งยังคงเป็นพันธกรณีทางกฎหมายของทั้งสองประเทศ
3. การตัดสินใจของกัมพูชาในการส่งข้อพิพาทไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถือเป็นการตอบสนองที่มีผลผูกพันทางกฎหมายด้วยวิธีการสันติ ต่อการละเมิดบันทึกความเข้าใจปี 2543 ของประเทศไทย การใช้กำลังทหาร การยุยงปลุกปั่น และการขาดความเต็มใจที่จะเคารพกรอบการทำงานที่ตกลงกันไว้สำหรับการกำหนดเขตแดนร่วมกัน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งเป็นองค์กรตุลาการของสหประชาชาติ เป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับและถูกต้องตามกฎหมายในการตัดสินข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงปัญหาเรื่องพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่กลไกทวิภาคีหยุดชะงักเนื่องจากฝ่ายหนึ่งละเมิดบันทึกความเข้าใจ 2000 อย่างต่อเนื่อง
4. กัมพูชาจึงเรียกร้องให้ไทยเคารพพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาอย่างเต็มที่ รวมถึงบันทึกความเข้าใจ 2000 โดยยุติการดำเนินการฝ่ายเดียวทั้งหมดที่เกิดขึ้น และดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ในการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี รวมถึงผ่านศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ