“เทพมนตรี” โชว์หลักฐานยันปราสาทตาเมือนธมเป็นของไทย ตามแผนที่ของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1901 รับรองโดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสปี 1904 ปรากฏในหนังสือ “ปราสาทพระวิหาร” ที่กัมพูชาจัดพิมพ์ร่วมกับยูเนสโก และวงวิชาการศิลปเขมรชอบนำไปอ้างอิง
วันนี้ (6 ก.ค.) นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบในเฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทตาเมือนธม ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชาและเป็นหนึ่งในพื้นที่พิพาทกับไทย 4 จุดที่กัมพูชานำไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)
นายเทพมนตรีได้ยืนยันว่าปราสาทตาเมือนธมเป็นของไทย ให้ทุกคนช่วยกันเผยแพร่พร้อมกับแท็กหานายฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
“ปราสาทตาเมือนธมเป็นของไทย ช่วยกันเผยแพร่
ผมอยู่กับท่านฮุนมาเนต
ปราสาทตาเมือนธมเป็นของไทย จากข้อเขียนและแผนที่ของเอเตรียน เอมโมนิเยร์ (Etienne Aymonier) นักสำรวจฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1901 จากหนังสือปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาจัดพิมพ์
ให้ข้อมูลทหารหาญจงมั่นใจได้ 100% ครับ
กัมพูชาพูดเองว่าปราสาทตาเมือนธมอยู่บนพนมดงรัก
แผนที่ของเอมโมนิเยร์ ผมได้กำกับเป็นวงกลมแสดงตำแหน่งปราสาทตาเมือนเป็นของไทย และรับรองโดยสนธิสัญญา ค.ศ. 1904” นายเทพมนตรีระบุ
นายเทพมนตรีได้โพสต์ข้อความอีกว่า “Etienne Aymonier ยืนยันปราสาทตาเมือนธมเป็นของสยาม จากแผนที่ที่เขาเขียนขึ้นในหนังสือ Le Cambodge (3 เล่ม) ในปี ค.ศ. 1901-1905”
นอกจากนี้ยังโพสต์อีกว่า “กัมพูชายอมรับในงานวิชาการว่าปราสาทตาเมือนธมอยู่ในดินแดนประเทศไทย การขึ้นทะเบียนปราสาทตาเมือนธมขัดต่อรัฐธรรมนูญกัมพูชาที่ใช้แผนที่มาตราส่วน 1:100,000 เป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา
“การอ้างตามข่าวเมื่อวันก่อนว่าใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 บริเวณเส้นเขตแดนนี้ผิดพลาด
กัมพูชาทำขัดกฎหมายตนเอง
ไทยเราประกาศและเป็นเจ้าของปราสาทมาก่อน
“ขอย้ำหลักฐานทางการขององค์กรแห่งชาติพระวิหาร หรือ NAPV ซึ่งให้การยอมรับว่าปราสาทตาเมือนธมอยู่ในดินแดนประเทศไทยจากหนังสือ Preah Vihear : An Introduction to the World Heritage Monument ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ร่วมกันกับ Unesco
“ปราสาทตาเมือนธมปรากฏบนแผนที่ของนักสำรวจที่มีชื่อเสียงและกัมพูชามักใช้อ้างอิงในงานวิชาการศิลปะเขมรไปยังนานาชาติ
“ปราสาทตาเมืองธมตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ. 1901 และรับกับอนุสัญญาค.ศ. 1904”