xs
xsm
sm
md
lg

DPU จัดเวิร์กชอป Mental Health Hackathon สร้างอาจารย์ที่ปรึกษายุคใหม่ ฟังด้วยหัวใจ เข้าใจนักศึกษา Gen Z

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์เตรียมความพร้อมด้านอาชีพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดกิจกรรม “Mental Health Hackathon: Empathetic Communication” มุ่งพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ที่ปรึกษาในการใช้หลักการ “Empathetic Communication” เป็นเครื่องมือหลักในการเข้าถึง เข้าใจ และช่วยเหลือนักศึกษาให้สามารถเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในชีวิตมหาวิทยาลัยได้อย่างเข้มแข็ง โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Source และ Soulsmith เป็นวิทยากรบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันนักศึกษาระดับปริญญาตรีจะอยู่ในรุ่น Gen Z ที่มีจำนวน 1 ใน 4 ของประชากรไทย รุ่นนี้เป็นรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมและการสื่อสาร หลายงานวิจัยได้ระบุว่าคนที่เกิดยุค Gen Z เผชิญความเครียดจากวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์โลก รวมทั้งการเข้ามาของ AI ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดในการปรับตัว เพราะบางครั้งนักศึกษาอาจมีปัญหาหรือความกดดันที่ไม่สามารถสื่อสารออกมาตรงๆได้ ดังนั้นการจัดเวิร์กชอปจึงเน้น “Empathetic Communication” เพื่อพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ที่ปรึกษาในการใช้ “การสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ” อาจารย์ที่ปรึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลและให้คำแนะนำแก่นักศึกษาในหลายด้าน เช่น ด้านวิชาการ ด้านการปรับตัว และด้านการพัฒนาตนเอง จึงจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางการสื่อสารที่เข้าใจลักษณะเฉพาะของนักศึกษา Gen Z ที่มีอิสระในความคิด เพื่อที่จะสามารถให้คำแนะนำที่ตรงจุดและส่งเสริมศักยภาพของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ภายใต้ความกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

ด้าน ดร.อสมา คัมภิรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมด้านอาชีพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า สถิติผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า อีกทั้งยังพบผู้ป่วยในกลุ่มอายุน้อยลง จากเดิมที่พบมากในวัยทำงาน ปัจจุบันกลับพบในกลุ่มมัธยมปลายและนักศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลนักศึกษา ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากมัธยมปลายสู่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาที่ถือเป็นบุคคลสำคัญ เสมือนบ้านหลังแรกที่โอบรับ ดูแล และให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาตลอดระยะเวลา 4 ปีของการศึกษา


จากการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัย พบว่า หัวข้อที่ต้องการอบรมมากที่สุดคือจิตวิทยาเชิงบวกและการสื่อสาร โครงการนี้จึงออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวโดยมีเป้าหมายเพื่อให้อาจารย์สามารถฟังนักศึกษาด้วยหัวใจ ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของนักศึกษา โครงการนี้ยังสอดคล้องกับพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ การแก้ไขปัญหา และการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของอาจารย์ยุคใหม่ อีกทั้งยังส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาพจิตของบุคลากรและนักศึกษา

การอบรมครั้งนี้มีอาจารย์จากหลากหลายคณะเข้าร่วม โดยได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ผลการประเมินความพึงพอใจอยู่ที่ 95% ของผู้เข้าร่วม อาจารย์หลายท่านเสนอแนะให้จัดอบรมลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเจาะลึกในประเด็นเฉพาะเพิ่มเติมหรือเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมได้มีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมอบรมวันนี้ยังได้รับแนวทางใหม่ๆ ในการสื่อสาร โดยเฉพาะการใช้คำถามและประโยคที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ การฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เข้าใจความต้องการของนักศึกษา และสามารถหาวิธีช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ศูนย์ฯ ยังมีแผนต่อยอดโครงการ โดยจัดอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและเทคนิคจิตวิทยาสำหรับการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ รวมถึงการดูแลปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของนักศึกษาในปัจจุบัน

“นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังทำงานร่วมกับคณะและหน่วยงานในมหาวิทยาลัย เพื่อดูแลนักศึกษาอย่างรอบด้าน โดยพิจารณาลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไข และจะประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานภายนอก เช่น โรงพยาบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” ดร.อสมากล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่อาจารย์ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารแบบเห็นอกเห็นใจ และผู้ก่อตั้ง Empathy Source และ Soulsmith วิทยากร กล่าวว่า หัวใจหลักของการบรรยายครั้งนี้ คือแนวคิด “Empathy” หรือความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงหลักการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมปรับบทบาทจาก “ผู้สอน” สู่ “ผู้รับฟัง” และเข้าใจ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาอย่างแท้จริง










กำลังโหลดความคิดเห็น