ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน DPU Core มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดงานแสดงผลงาน Idea Showcase ประจำปีการศึกษาที่ 2/2567 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ DPU Makerspace เพื่อเป็นเวทีให้นักศึกษา DPU Core ใน Module 3 Data Analytics for Business Opportunities และ Module 4 Entrepreneurship in Digital Era and Sustainability ได้นำเสนอและแสดงผลงานที่พัฒนาขึ้น ซึ่งหลายโครงการโดดเด่นด้วยการพลิกโฉมแนวคิดสู่ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้และพร้อมเข้าสู่ตลาดจริง สะท้อนถึงความสำเร็จในการบ่มเพาะทักษะผู้ประกอบการยุคใหม่
กิจกรรมในปีนี้มีความคึกคักมากกว่าทุกปี โดยเฉพาะในวันที่ 2 พฤษภาคม ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้รับความสนใจและเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ร่วมงาน โดยผลิตภัณฑ์หลายชิ้นสามารถขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว อาทิ ไอศกรีมสุขภาพ มะขาม Granita ที่ใส่โพรไบโอติกส์ และไอศกรีมจากน้ำตาลดอกมะพร้าวและเก๊กฮวย, ดินอัดเม็ดที่มีเมล็ดพันธุ์ในตัว และ กระเป๋าทำมือจากวัสดุรีไซเคิล ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการนำองค์ความรู้ทั้ง การวิเคราะห์ตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ไปปรับใช้เพื่อสร้างธุรกิจจริงของนักศึกษา นอกจากนี้นักศึกษาบางกลุ่มยังได้นำผลงานออกไปทดลองขายจริงภายนอกมหาวิทยาลัย และต่อยอดสู่การสร้างรายได้จากธุรกิจของตนได้แล้ว
ภายในงานมีการคัดเลือกโครงงานที่โดดเด่นในแต่ละ Module โดยใน Module 3 มีการจัดแสดงโครงงานจากรายวิชา GE172 เศรษฐกิจใหม่และวัฒนธรรมในประเทศกลุ่ม AEC และจีน และ MA109 คณิตศาสตร์และสถิติ จำนวน 38 โครงการ จากทั้งหมด 186 โครงการ ส่วนใน Module 4 มีการจัดแสดงรายวิชา BA103 ผู้ประกอบการดิจิทัล และ Capstone ซึ่งมี 26 โครงการจากทั้งหมด 236 โครงการ โดยในวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศผล ‘รางวัลสุดยอด Showcase'
สำหรับ Module 3 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม NOF โครงงาน Justwear ถุงเท้าจากเส้นใยพลาสติก ที่ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Tuinui โครงงาน Reink หมึกพิมพ์จากเปลือกผลไม้ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 ทีม ได้แก่ ทีม นักบิด โครงงาน Plastoy ของเล่นจากขยะพลาสติก โดยนำเอาขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นเส้นใยสำหรับ 3D Printing และสร้างสรรค์เป็นอาร์ตทอยขึ้นมา และ ทีม DATA โครงงาน Biking Charge จักรยานกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ที่ปรับเปลี่ยนจักรยานให้ดูทันสมัยและเพิ่มฟังก์ชันกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากการปั่นเข้าสู่แบตเตอรี่
ขณะที่ Module 4 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 4 Angie's โครงงาน หอมปู ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปูม้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนและชุมชนเกาะสีชัง, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม 4 เซียนเสวนา กับโครงงาน ยาดม ลมหายใจจากเกาะสีชัง ผลิตภัณฑ์จากอบเชยเถา ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของเกาะสีชัง ช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวและลดความเครียด, รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมคนไทยต้องได้เกรด A กับโครงงาน Harmony of Life การเข้าถึงสื่อเพื่อความเท่าเทียมของคนพิการ ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม DEMO โครงงาน MIDORO โปรตีนที่ทำจากไข่ผำ ที่มีโภชนาการสูงและช่วยระบบขับถ่าย ลดปัญหาการทานอาหารเสริมที่มีกลิ่นแรงและรับประทานยาก ซึ่งใน Module 4 นี้ แต่ละทีมได้มีการทดลองขายจริง และมียอดขายการันตี
อาจารย์ธัญญภัสร์ ภูมิทรัพยเวทย์ผู้ชำนาญการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน DPU Core ซึ่งเป็นผู้ดูแลหลักสูตรและโครงการเหล่านี้ กล่าวว่า ความน่าสนใจของโครงการในปีนี้อยู่ที่จุดเริ่มต้นของนักศึกษาที่มาจากปัญหาจริงของชุมชน กลุ่มเป้าหมาย จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย หรือไอเดียผู้ประกอบการ ทำให้แนวทางการพัฒนาโครงการมีความเฉพาะทางและตอบโจทย์ตลาดได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแนวคิดทั่วไปเหมือนในอดีต การได้ลงมือผลิตสินค้าและขายจริงในงานครั้งนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์ถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการที่นักศึกษาได้สั่งสมจากการเรียนรู้ในหลักสูตร
ด้าน ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาลผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน กล่าวว่า รายวิชา Capstone ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียนรู้ในหลักสูตร DPU Core โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษาได้นำความสนใจ ความถนัด และทักษะของตนเองมาสร้างเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้จริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนธุรกิจ การตั้งราคาสินค้า การหาคู่ค้า การสื่อสารกับลูกค้า รวมถึงการจัดการกับข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์
นอกเหนือจากกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน หลักสูตร DPU Core ยังมุ่งเน้นการพัฒนา ‘ทักษะผู้ประกอบการ’ หรือ Entrepreneurial Mindset ซึ่งประกอบด้วยการคิดวิเคราะห์ การวางแผน การแก้ปัญหา การเข้าใจต้นทุนและกำไร การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI และการคำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน ทักษะเหล่านี้ถูกออกแบบให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ผ่านการเรียนรู้ 4 โมดูล ตั้งแต่การปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ใน Module 1 การเรียนรู้เทคโนโลยีใน Module 2 ความรู้ด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ใน Module 3 จนถึงการลงมือทำจริงใน Module 4
ระหว่างทำกิจกรรม นักศึกษายังได้ฝึกทักษะข้ามศาสตร์ผ่านการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา โดยมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมการสนับสนุนในหลายด้าน เช่น การให้คำปรึกษาและผสานองค์ความรู้จากคณาจารย์หลากหลายคณะ อาทิ วิทยาลัยการแพทย์แบบบูรณาการ (CIMw) ที่ให้คำแนะนำเรื่องสารสกัดต่างๆ, คณะศิลปกรรมศาสตร์ (FA) ที่ช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วย AI, วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ที่ให้ความรู้ด้าน Carbon Footprint และคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ที่สนับสนุนสูตรอาหาร
มหาวิทยาลัยยังให้การสนับสนุนเครื่องมือและห้องแล็บ รวมถึงงบประมาณบางส่วนเพื่อให้สามารถผลิตงานจริง ซึ่งช่วยให้นักศึกษาสามารถผ่านความท้าทาย และเริ่มเห็นแนวทางที่เป็นไปได้ของธุรกิจในอนาคต โดยหลังจบกิจกรรมหลักสูตรยังเดินหน้าต่อยอดโครงการเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ Startup ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดทำโครงการ Grooming เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแผนธุรกิจต่อไปยังเวทีระดับประเทศ โดยจะมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแม้นักศึกษาจะสำเร็จการศึกษาไปแล้ว ตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยให้การส่งเสริมมาโดยตลอด
อาจารย์ธัญญภัสร์และผศ.ไพรินทร์ ยังเน้นย้ำถึงจุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตร DPU Core ไม่ใช่เพื่อให้ทุกคนกลายเป็นผู้ประกอบการ แต่เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นในการทำงานยุคใหม่ โดยเฉพาะความสามารถในการตั้งคำถาม มองเห็นปัญหา เข้าใจผู้คน วิเคราะห์สถานการณ์ ตัดสินใจและลงมือทำ กล้าแสดงความเห็น ทำงานร่วมกับผู้อื่น และรับมือกับความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในศตวรรษที่ 21
“นักศึกษาของเรามีศักยภาพ ทุกคนมี ‘ของ’ อยู่ในตัวเอง เพียงแค่บางคนยังไม่รู้ว่าเขามีอะไร เราจึงพยายามสร้างพื้นที่ให้เขาได้ลองผิดลองถูก และมองเห็นศักยภาพของตัวเองจริงๆ” อาจารย์ธัญญภัสร์ กล่าวโดยเน้นย้ำว่า นักศึกษายุคใหม่ “หลายคนไม่เพียงมีความสามารถโดดเด่นด้านการปรับตัว แต่บางคนยังเป็นเสาหลักของครอบครัว” ซึ่งทำให้การพัฒนาทักษะและโอกาสทางธุรกิจมีความหมายยิ่งขึ้น นอกจากนี้นักศึกษา DPU ยังสามารถสื่อสารกับคนหลากหลายรุ่นได้อย่างนุ่มนวลและเปิดกว้าง ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่หาได้ยากและสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน