คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดกิจกรรม Final Pitching Capstone Projects เปิดเวทีให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นำเสนอโปรเจกต์ธุรกิจต่อคณะกรรมการจากภายนอก โดยมี JOBBKK เป็นพันธมิตรหลักในการให้โจทย์ธุรกิจที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน และร่วมตัดสินโปรเจกต์ที่มีศักยภาพในการต่อยอดสู่ตลาดจริง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ Studio Content 1 อาคาร 7 ชั้น 4
โดย 1 ในบรรดา 12 ทีมที่นำเสนอแนวคิดธุรกิจ กลยุทธ์การตลาดและแผนดำเนินงาน ต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และได้รับรางวัล The Best Project พร้อมทุนการศึกษา 5,000 บาทจาก JOBBKK ได้แก่ ทีม "ยะลา ปัตตานี ตุรกี" ซึ่งประกอบด้วย 1.นางสาวนราวดี ภู่สกุล 2.นางสาวณิชาพร เนียนกระโทก หลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนท์และสื่อ 3.นายคุณากร จั่นเพิ้ง 4.นางสาวสรชา หนูกระจ่าง และ 5.นายธนภัทร สุขอิ่ม หลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล กับแอปพลิเคชัน Eco Creator ที่มุ่งส่งเสริมการใช้ชีวิตแบบ Low-Carbon ผ่านกลไกเกม Carbon Quest ให้ผู้ใช้สะสมคะแนน Green Energy Points (GEP) แลกสิทธิพิเศษจากแบรนด์รักษ์โลก
นางสาวนราวดี ภู่สกุล ตัวแทนทีม "ยะลา ปัตตานี ตุรกี" กล่าวด้วยความดีใจว่า แรงบันดาลใจของโปรเจกต์นี้มาจากการไปดูงานที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ และพบว่าความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น “หลายคนยังมองว่าไกลตัว” จึงต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เรื่อง Carbon Footprint กลายเป็นเรื่องสนุก
ทีมผู้สร้างยังเปิดเผยอีกว่า ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชันต้องค้นหาข้อมูลจากแหล่งเฉพาะ เช่น อบก. และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งการคำนวณรายรับ-รายจ่าย, การรีเสิร์ชตลาดการและการตั้งโมเดลธุรกิจ นอกจากนี้ยังช่วยให้เห็นว่า “ธุรกิจไม่ใช่เรื่องไกลตัว” แต่เป็นทักษะสำคัญที่สามารถต่อยอดได้จริง
“รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้ทำโปรเจกต์นี้ นอกจากแนวคิดและการทำงานร่วมกัน ยังได้ฝึกมุมมองทางธุรกิจที่ไม่เคยคิดว่าจะเกี่ยวข้องกับนิเทศศาสตร์ ทำให้รู้ว่าทักษะนี้มีคุณค่าต่ออนาคต” นราวดี ระบุ และสะท้อนถึงความสำเร็จในงาน Idea Showcase 2/67 ของฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน DPU Core ซึ่งทีมได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 จากกว่า 200 ทีม ยืนยันว่าไอเดียสามารถต่อยอดสู่การใช้งานจริง
สำหรับแผนพัฒนาในอนาคต Eco Creator ตั้งเป้าขยายการใช้งานแอปพลิเคชันไปสู่กลุ่มผู้ใช้ที่กว้างขึ้น โดยเริ่มจากการทดลองใช้ภายใน DPU ที่ให้ความสำคัญกับ SDGs นอกจากนี้ยังมองหาความร่วมมือกับวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) ที่เชี่ยวชาญด้านเกม เพื่อออกแบบระบบและกลไกเกมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสในการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ที่สอดรับกับแนวทางพัฒนาในปัจจุบัน
“เราเชื่อว่า EcoCreator จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตแบบ Low-Carbon ได้จริง เพราะทุกการกระทำเล็กๆ น้อยๆ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและทำให้โลกดีขึ้นได้”
ชื่นชมไอเดียนักศึกษา พร้อมสนับสนุนโอกาสฝึกงาน
คุณกิตติศักดิ์ เกษบุรี Marketing Communication Manager JOBBKK หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ได้กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อนักศึกษา DPU ว่า เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาแนวคิดให้มีศักยภาพต่อยอดสู่ธุรกิจจริง โดยเฉพาะทีม Eco Creator ที่เข้าใจประเด็นด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น JOBBKK รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนและบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในเวทีนี้
“นักศึกษามีไอเดียที่น่าสนใจ และนำ Insight จากชีวิตประจำวันมาต่อยอดเป็นโครงการที่มีมูลค่าทางธุรกิจ การมีพื้นฐานความเข้าใจในโมเดลธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาด การจัดการต้นทุน กำไร ตลอดจนการหาแหล่งทุน ถือเป็นทักษะสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องการ การทำโปรเจกต์ลักษณะนี้ช่วยให้นักศึกษาได้เห็นภาพรวมของธุรกิจ ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาไปจนถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้”
คุณกิตติศักดิ์ ยังบอกอีกว่า “หลายโปรเจกต์แสดงให้เห็นถึงความพร้อม และสามารถนำไปใช้งานได้จริงในอนาคต โดยหลังจากนี้เราจะมีการพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อมอบโอกาสฝึกงานแก่นักศึกษา”
ขณะที่ ดร.วริศ ลิ้มลาวัลย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยนานาชาติ DPU กรรมการรับเชิญอีกหนึ่งท่าน มองว่า ไอเดียธุรกิจของนักศึกษาจาก Capstone Project เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเป็นมืออาชีพ นักศึกษาได้วางรากฐานธุรกิจจากการค้นหา Pain Point เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ทำกัน สิ่งสำคัญที่นักศึกษาต้องพัฒนาต่อคือ การมองตลาดให้กว้างขึ้น ซึ่งประสบการณ์จากการทำงานหรือฝึกงานจะช่วยขยายมุมมองนี้ต่อ ทำให้ไอเดียที่เริ่มต้นในมหาวิทยาลัยมีศักยภาพเติบโตสู่ระดับประเทศและนานาชาติได้
ดร.วริศ ยังชื่นชมผลงานหลายโครงการที่นำแนวคิดความยั่งยืน (SDGs) และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ ซึ่งเป็นกระแสสำคัญในโลกธุรกิจปัจจุบัน และชี้ว่าการเรียนรู้เชิงทฤษฎีควบคู่กับการสั่งสมประสบการณ์จริง ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจโลกธุรกิจอย่างลึกซึ้งและประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พื้นที่เรียนรู้ที่มากกว่าการนำเสนอไอเดีย
อาจารย์วรพงษ์ ปลอดมูสิก รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และหัวหน้าหลักสูตรวิชาการสื่อสารการตลาดดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ DPU เปิดเผยว่า Capstone Projects เป็นมากกว่าการนำเสนอไอเดียธุรกิจ แต่เป็นเวทีที่ให้นักศึกษาฝึกทักษะทางธุรกิจจากประสบการณ์จริง ผ่านข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเรียนรู้การพัฒนาโปรเจกต์ให้ใช้งานได้ โดยนอกจากการคิดเชิงธุรกิจแล้ว ยังเน้นการตลาดและการขาย ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของทุกสายอาชีพ โดยเฉพาะนิเทศศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอและสื่อสาร การเข้าใจตลาดจะช่วยให้นักศึกษาพัฒนาแนวคิดที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างตรงจุด
"เราไม่สามารถหลีกหนีเรื่องธุรกิจและการขายได้" รองคณบดี กล่าว พร้อมเน้นว่าหัวใจสำคัญ Capstone คือมุ่งให้นักศึกษาไม่เพียงแต่สนุกกับการเรียนรู้ แต่ยังได้เปลี่ยนสิ่งที่รักให้กลายเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ เพราะเมื่อเราทำในสิ่งที่รัก เราจะอยู่กับสิ่งนั้นได้นานและช่วยพัฒนาเราได้ดีขึ้น
เช่นเดียวกับ ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน DPU ที่ได้อธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลัง Capstone Project ริเริ่มโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีเป้าหมายหลักคือการเสริมสร้างทักษะของผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาทุกคน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเป็นเจ้าของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมี "แนวคิด" ที่จะสามารถนำไปต่อยอดความรู้หรือสิ่งที่ตนสนใจให้เกิดได้จริง
สำหรับนักศึกษานิเทศศาสตร์ การสร้างคอนเทนต์และการนำเสนอผลงานไม่ใช่แค่การผลิตสื่อ แต่คือการ ‘ขาย’ แนวคิด สร้างภาพลักษณ์ และบริหารตนเองอย่างมืออาชีพ Capstone Project จึงเป็นสนามฝึกจริงที่ให้นักศึกษาลงมือทำ เรียนรู้ตลาด และพัฒนาทักษะที่จำเป็นสู่โลกการทำงาน เสริมศักยภาพด้านการนำเสนอและสื่อสารตอบโจทย์ความต้องธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ผศ.ศิวนารถ หงษ์ประยูร คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ DPU กล่าวถึงความสำคัญของการที่นักศึกษาได้ทำโปรเจกต์ในสเกลขนาดใหญ่ ช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าและนำไปต่อยอดได้จริง โดยเฉพาะการได้ทำงานร่วมกับแบรนด์มืออาชีพ และได้รับฟังคอมเมนต์จากตัวจริงเสียงจริง ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจว่าธุรกิจต้องการอะไร และนำไอเดียไปต่อยอดในอุตสาหกรรมได้จริง
“คณะนิเทศศาสตร์ DPU มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ภายนอกมาโดยตลอด ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกฝนตลอด 3-4 ปีในมหาวิทยาลัยนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อสำเร็จการศึกษา และเราจะพัฒนาโปรเจกต์นี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในปีถัดไป”
ทักษะสำคัญ First jobber ต้องมี
คุณกิตติศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังจบกิจกรรมว่า “บัณฑิตยุคใหม่” โดยเฉพาะนักนิเทศศาสตร์ต้องมี “ทักษะการขาย” เพราะโลกการทำงานต้องการคนที่มีความสามารถรอบด้าน (Multitasking) เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ แม้เทคโนโลยีช่วยให้ทำงานเร็วขึ้น แต่ไอเดียและการเข้าใจตลาดยังเป็นสิ่งสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นเซลส์แมนที่ต้องเข้าใจการตลาด หรือสาย Production และ Film ที่เน้นงานสร้างสรรค์ จำเป็นต้องมีทักษะการขายและวิเคราะห์ตลาดเพื่อให้เติบโตในสายอาชีพ คุณกิตติศักดิ์เชื่อว่าทุกคนต้อง "ขายตัวเองให้ได้" และ Capstone Project เป็นเวทีที่ช่วยให้นักศึกษาได้ปรับมายด์เซ็ต เปิดใจเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะเหล่านี้ผ่านการนำเสนอผลงานจริงและเข้าใจกลไกธุรกิจ
“นักศึกษาคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต JOBBKK เราเล็งเห็นศักยภาพของนักศึกษา และพร้อมสานต่อความร่วมมือ” คุณกิตติศักดิ์ ย้ำ “นักศึกษา DPU ที่ผ่าน Capstone Project มีความพร้อมในระดับ 8 เต็ม 10 ด้วยการดูแลอย่างดีจากอาจารย์ที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญ และพันธมิตรภายนอกที่ให้คำแนะนำที่หลากหลายมุมมอง แม้จะมีความผิดพลาดบ้างแต่ก็เป็นเรื่องปกติ สำคัญคือถ้าเรียนรู้เร็วก็จะพร้อมเร็วมากขึ้น”